×

GPSC – ได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ

29.05.2024
  • LOADING...
GPSC

เกิดอะไรขึ้น:

 

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 65% (กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 6.8GW) ภายในปี 2569 จาก 37% ในปัจจุบัน และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานสะอาดเป็น 15GW ภายในปี 2573 โดยส่วนใหญ่จะเกิดจาก Avaada Energy (GPSC ถือหุ้น 42.93%) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนของบริษัทในประเทศอินเดีย 

 

โดย Avaada วางแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กำลังการผลิต 800MW (343MWe สำหรับ GPSC) ในอินเดียในปี 2567 กำลังการผลิตที่ได้รับมอบในปัจจุบันของ Avaada ที่ 13.9MW (ณ เดือนเมษายน 2567) เกินเป้าหมายปี 2569 ที่ 11GW แล้ว 

 

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียวางแผนเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกำลังการผลิต 50GW ต่อปีในระยะ 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง (CFXD) กำลังการผลิต 343Mwe ในประเทศไต้หวัน ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะช่วยขยายพอร์ตพลังงานสีเขียวของบริษัท และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบตั้งแต่ 3Q67 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ GPSC มีมุมมองเชิงบวกต่อการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ การประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟสที่ 2 กำลังการผลิต 3.6GW 

 

และแผน PDP2024 ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยอีก 30-40MW เป็น 50% ภายในปี 2580 เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสีเขียวในอนาคต ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ร่างแผน PDP2024 จะเปิดประชาพิจารณ์ในเดือนมิถุนายน 2567 จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบใน 4Q67 

 

ปัจจัยเหล่านี้น่าจะสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มสาธารณูปโภคไทย จากการศึกษาของ InnovestX Research พบว่า ราคาหุ้นสาธารณูปโภคไทยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกับการประมูลโรงไฟฟ้า 2 ครั้งที่ผ่านมาในแผน PDP2018 (ประชาพิจารณ์เดือนธันวาคม 2561) และการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟสแรก กำลังการผลิต 5GW (เดือนกันยายน 2565)

 

ด้านคณะกรรมการกำกับพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศใช้ระบบ Single Pool Gas Price โดยนำเอาราคาก๊าซระดับต่ำที่ส่งไปให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมาคำนวณ Pool Gas รวม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนก๊าซของ SPP ลดลง 5-7 บาทต่อล้านบีทียูจากฐานปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ กกพ. ยังเห็นชอบให้ลดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติในกลุ่มโรงไฟฟ้าลงจาก 11.48 บาท สู่ 5.47 บาทต่อล้านบีทียู สำหรับปี 2567-2571 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้มาร์จิ้นของโรงไฟฟ้า SPP ปรับเพิ่มขึ้นได้ 6.01 บาทต่อล้านบีทียู 

 

แต่โรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชันของ GPSC จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 2 บาทต่อล้านบีทียู ดังนั้นต้นทุนก๊าซโดยรวมของ GPSC คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยใน 2Q67 เมื่อเทียบกับ 1Q67 ซึ่งอยู่ที่ 362 บาทต่อล้านบีทียู

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น GPSC ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ระดับ 47.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 0.20% สู่ระดับ 1,362.70 จุด

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:

 

InnovestX Research คาดว่าโมเมนตัมกำไรปกติของ GPSC จะปรับตัวดีขึ้น YoY และ QoQ ใน 2Q67 ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนก๊าซที่ลดลงจากปริมาณก๊าซที่เพิ่มขึ้นในอ่าวไทยและการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ 

 

อย่างไรก็ดี มองเป็นกลางต่อแนวโน้มระยะกลางของมาร์จิ้นธุรกิจ SPP เนื่องจากการที่รัฐบาลต้องการลดค่าไฟฟ้าของประเทศไทยลงสู่ระดับต่ำกว่า 4.0 บาทต่อ kWh จากปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อ kWh จะเป็นตัวจำกัดมาร์จิ้นของธุรกิจ SPP นอกจากนี้ราคา LNG Japan/Korea Marker PLATTS Future ที่เพิ่มขึ้น 25.3% ใน 2Q67TD สู่ 11.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จะทำให้มาร์จิ้นของธุรกิจ SPP มี Upside จำกัดใน 3Q67

 

สำหรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุน ยังคงคำแนะนำ Tactical call ระยะ 3 เดือนสำหรับ GPSC ไว้ที่ Neutral โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 60 บาทต่อหุ้น อ้างอิงวิธี DCF (WACC ที่ 5.4%, Terminal Growth ที่ 0.5%)

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ต้นทุนเชื้อเพลิง / ก๊าซสูงกว่าคาด, การเลื่อนปรับค่า Ft, ผลตอบแทนจากโครงการลงทุนใหม่ต่ำกว่าคาด และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising