เกิดอะไรขึ้น:
หลังจากที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยืดเยื้อมากว่า 18 เดือน สร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้น รวมทั้งกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในที่สุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกันแล้ว โดยข้อตกลงเฟสนี้ จีนพร้อมนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ยุติการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และเปิดตลาดการเงินและสกุลเงิน แลกกับการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ที่เคยวางแผนว่าจะขึ้น 15% ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 พร้อมทั้งประกาศลดอัตราภาษีสินค้านำเข้ามูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ที่เคยเก็บในอัตรา 15% เหลือ 7.5%
อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้ยังต้องผ่านการพิจารณาทางกฎหมายจากทั้งสองประเทศก่อนที่จะมีการลงนามรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนมกราคม 2563 ก่อนจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่ที่มีกระแสข่าวเรื่องการเจรจาทางการค้าในเฟสแรก (11 ตุลาคม) จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ธันวาคม) ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการตอบรับเชิงบวก โดยดัชนีหุ้นโลก (MSCI ACWI) เพิ่มขึ้น 6.6%, ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) เพิ่มขึ้น 6.7%, ตลาดหุ้นยุโรป (EURO STOXX 50) เพิ่มขึ้น 4.5%, ตลาดหุ้นอังกฤษ (FTSE 100) เพิ่มขึ้น 1.5%,
ตลาดหุ้นเยอรมนี (DAX) เพิ่มขึ้น 6.2%, ตลาดหุ้นเอเชีย (MSCI Asia Pacific) เพิ่มขึ้น 7.7%,
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei 225) เพิ่มขึ้น 10.2%, ตลาดหุ้นจีน (CSI 300) เพิ่มขึ้น 1.4%,
ตลาดหุ้นฮ่องกง (HSI) เพิ่มขึ้น 5.2%, ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) เพิ่มขึ้น 6.1%
ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ (Gold Spot) ปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 1476.3 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ลดลง 0.9% รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ 2 ปี และ 10 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.60% (เพิ่มขึ้น 0.0123%) และ 1.82% (เพิ่มขึ้น 0.0936%) ตามลำดับ จึงทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 และ 2 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 0.2189% จากเดิม 0.1376% แสดงถึงภาวะ Risk-on ต่อการลงทุนมากขึ้น
มุมมองระยะสั้น:
SCBS เชื่อว่าจะมีการลงนามข้อตกลงการค้าในเฟสแรกตามที่ประกาศไว้ในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดการเงินในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นนี้อาจมีประเด็นที่ต้องติดตามด้านการบังคับใช้ข้อตกลงการค้านี้ใน 3 ประเด็น คือ (1) การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ของจีน (2) การยุติการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และ (3) กระบวนการแก้ไขข้อพิพาททางการค้า
มุมมองระยะยาว:
สำหรับระยะเวลาของข้อตกลงในเฟสแรก และความเป็นไปได้ที่จะมีเฟส 2 SCBS ประเมินเป็น 3 สถานการณ์ดังนี้
(1) รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันไม่พอใจในการบังคับใช้ข้อตกลง อาจยกเลิกและกลับมาขึ้นภาษีในสินค้านำเข้า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ตามเดิม (ความน่าจะเป็น 30%)
(2) รัฐบาลสหรัฐฯ พอใจในการบังคับใช้ข้อตกลงเฟสแรก แต่การเจรจาเฟสสองไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก็จะเลื่อนการลงนามข้อตกลงหลังเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ลงนาม (ความน่าจะเป็น 50%)
(3) รัฐบาลสหรัฐฯ พอใจในการบังคับใช้ข้อตกลงเฟสแรก และการเจรจาเฟสสองสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก็น่าจะลงนามข้อตกลงเฟสสองก่อนเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้คะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้ง (ความน่าจะเป็น 20%)
ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาวะ Risk-on คือ ภาวะที่นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เกิดจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลจากปัจจัยลบ จึงทำให้นักลงทุนกล้าเปิดรับความเสี่ยงเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ พันธบัตร ทองคำ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าในเชิงเปรียบเทียบ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง พันธบัตรทองคำที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าในเชิงเปรียบเทียบ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์