×

หุ้นกลุ่มอาหาร – คงมุมมองระมัดระวัง

19.12.2023
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มอาหาร

เกิดอะไรขึ้น:

ใน 4Q66 ราคาและมาร์จิ้นเนื้อสัตว์ในประเทศอ่อนแอต่อเนื่อง โดยราคาสุกรในประเทศฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดของปีนี้ในเดือนตุลาคม สู่ 68 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายน (ลดลง 34%YoY, เพิ่มขึ้น 13%MoM) แต่ยังอ่อนแอที่ 64 บาทต่อกิโลกรัม ใน 4Q66TD (ลดลง 37%YoY, ลดลง 6%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ 66-68 บาทต่อกิโลกรัม เพราะได้รับผลกระทบจากการลักลอบนำเข้าสุกรผิดกฎหมายในจำนวนที่ยังไม่ทราบที่แน่ชัดก่อนหน้านี้ และอุปทานสุกรที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โรค ASF คลี่คลาย

 

ราคาไก่เนื้อในประเทศปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดของปีนี้ในเดือนตุลาคม สู่ 38.5 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายน (ลดลง 13%YoY, เพิ่มขึ้น 7%MoM) แต่ยังอ่อนแอที่ 37 บาทต่อกิโลกรัม ใน 4Q66TD (ลดลง 17%YoY, ลดลง 8%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นที่ 36-38 บาทต่อกิโลกรัม เพราะได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายและราคาส่งออกที่ลดลง รวมถึงราคาสุกรในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ (ผลิตภัณฑ์โปรตีนทดแทน)

 

ด้านมาร์จิ้นเนื้อสัตว์คาดว่า มาร์จิ้นเนื้อสัตว์ (ราคาลบต้นทุนอาหารสัตว์) จะยังอยู่ในระดับต่ำใน 4Q66 เนื่องจากราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลงเร็วกว่าต้นทุนอาหารสัตว์ ทั้งนี้ ต้นทุนข้าวโพด (Spot Price) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ 10.1 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายน (ลดลง 18%YoY, ลดลง 8%MoM) และ 10.5 บาทต่อกิโลกรัม ใน 4Q66TD (ลดลง 16%YoY, ลดลง 10%QoQ) จากสภาวะการเพาะปลูกที่ดีขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบทดแทน (เช่น ต้นทุนข้าวสาลี) ที่ลดลง

 

ในขณะเดียวกัน ต้นทุนกากถั่วเหลืองนำเข้ากลับเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น MoM เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สู่ 22.7 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายน (ทรงตัว YoY แต่เพิ่มขึ้น 10%MoM) และ 21.7 บาทต่อกิโลกรัม ใน 4Q66TD (ลดลง 6%YoY%, เพิ่มขึ้น 2%QoQ) เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในช่วงที่มีการเพาะปลูกถั่วเหลืองในอเมริกาใต้

 

ส่วนราคาสุกรต่างประเทศอ่อนตัวลงใน 4Q66 โดยราคาสุกรในเวียดนามปรับขึ้น MoM สู่ 52,500 ดองต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายน (ทรงตัว YoY, เพิ่มขึ้น 6%MoM) จากการปรับอุปทานที่ดีขึ้นหลังการระบาดของโรค ASF ในบางพื้นที่ แต่ยังคงอ่อนแอที่ 51,000 ดองต่อกิโลกรัม ใน 4Q66TD (ลดลง 3%YoY, ลดลง 11%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นที่ 48,500 ดองต่อกิโลกรัม ราคาสุกรในจีนลดลงสู่ 15 หยวนต่อกิโลกรัม ในเดือนพฤศจิกายน (ลดลง 41%YoY, ลดลง 4%MoM) และ 15 หยวนต่อกิโลกรัม ใน 4Q66TD (ลดลง 37%YoY, ลดลง 5%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นที่ 16.5 หยวนต่อกิโลกรัม เนื่องจากมีอุปทานเข้ามาเพิ่มท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแอ

 

สำหรับปริมาณการขายอาหารทะเลอ่อนแอใน 4Q66 ปริมาณการขายอาหารทะเลของ TU คาดว่าจะลดลง YoY ใน 4Q66 เนื่องจากลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อใหม่เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางและการเก็บสินค้าคงคลังน้อยกว่าปกติหลังจากระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือกลับสู่ภาวะปกติ แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น QoQ โดยได้แรงหนุนจากต้นทุนปลาทูน่าที่ลดลง ราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) อยู่ที่ 1,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ใน 4Q66TD ลดลง 7%YoY และ 14%QoQ จากการจับปลาได้ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มาร์จิ้นอาหารทะเลของ TU มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว YoY ใน 4Q66 เนื่องจากปริมาณการขายที่ลดลงจะถูกชดเชยด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มอาหาร (SETFOOD) ปรับเพิ่มขึ้น 0.83% ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 1.71%

 

กลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุน:

InnovestX Research คาดว่าผลประกอบการปกติ 4Q66 ของกลุ่มอาหารจะยังคงอ่อนแอ โดยผลขาดทุนจะเพิ่มขึ้น YoY และจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว QoQ จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุกรในประเทศ (CPF และ BTG) และกำไรจะลดลง YoY จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเร็วกว่าต้นทุนอาหารสัตว์สำหรับธุรกิจไก่เนื้อ (GFPT) และปริมาณการขายที่ลดลงสำหรับธุรกิจอาหารทะเล (TU) 

 

ด้วยผลประกอบการ 4Q66 ที่อ่อนแอ มุมมองระมัดระวังต่อแนวโน้มผลประกอบการ 1H67 เนื่องจากอุปทานสุกรสูง และความเสี่ยงขาลงต่อผลประกอบการหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นจึงไม่มีหุ้นเด่นในกลุ่มอาหาร

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงจากกำลังซื้อที่หดตัวตามภาวะจากเงินเฟ้อและอุปทานที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล ความเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญ คือการบริหารจัดการพลังงาน ขยะและน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคและพนักงาน (S)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X