เกิดอะไรขึ้น:
ราคาสุกรในประเทศปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ 68 บาทต่อกิโลกรัม ใน 3Q66TD (ลดลง 32%YoY, ลดลง 14%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นที่ 70-85 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากราคาสุกรในประเทศอยู่ในระดับขาดทุน ผู้เล่นรายเล็กบางรายจึงเริ่มลดอุปทานสุกรลง และมีการนำเข้าสุกรผิดกฎหมายลดลง อันเป็นผลมาจากมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นของกรมศุลกากรไทยที่กำหนดให้การนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งทั้งหมดต้องสำแดงและผ่านช่องทางการตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยป้องกัน Downside Risk ด้านราคา
ในขณะเดียวกัน สุกรที่ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ (ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด) และอุปทานสุกรที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โรค ASF คลี่คลายจะยังคงจำกัด Upside Risk ทั้งนี้ ผู้เล่นรายใหญ่คาดว่าอุปทานสุกรในประเทศจะเพิ่มขึ้นสู่ 17-18 ล้านตัวในปี 2566 (เทียบกับ 14.5 ล้านตัวในปี 2565) และกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรค ASF ที่ 20 ล้านตัวในปี 2567-2568
ด้านราคาไก่เนื้อในประเทศปรับลดลงสู่ 41.5 บาทต่อกิโลกรัม ใน 3Q23TD (ลดลง 10%YoY, 3%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นที่ 40-43 บาทต่อกิโลกรัม มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อไทยหดตัวติดต่อกัน 2 เดือนแล้ว โดยลดลง 11%YoY ในเดือนกรกฎาคม เพราะปริมาณการส่งออกลดลง 4%YoY และราคาส่งออกลดลง 7%YoY ด้วยราคาสุกรในประเทศที่ต่ำ (ผลิตภัณฑ์โปรตีนทดแทน) และตลาดส่งออกที่เปราะบาง (จากฐานสูงของปีที่ผ่านมา และอุปสงค์ที่อ่อนแอของปีนี้ในญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งคิดเป็น 70% ของตลาดส่งออกไทย) ราคาไก่เนื้อในประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะลดลง YoY ใน 2H66
ต้นทุนอาหารสัตว์ ใน 3Q66TD ต้นทุนข้าวโพดและกากถั่วเหลืองนำเข้า (Spot Price) อยู่ที่ 11.8 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 3%YoY และ 8%QoQ) และ 21.5 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 6%YoY และ 7%QoQ) อันเป็นผลมาจากการมีอุปทานเพิ่มจากสภาวะการเพาะปลูกที่ดีขึ้น เนื่องจากราคาสัตว์บกลดลงในอัตราที่เร็วกว่าต้นทุนอาหารสัตว์ ดังนั้นจึงคาดว่ามาร์จิ้นของผลิตภัณฑ์สัตว์บก (ราคาลบด้วยต้นทุนอาหารสัตว์) จะยังอยู่ในระดับต่ำใน 3Q66
ส่วนราคาสุกรต่างประเทศปรับลดลง YoY โดยราคาสุกรในเวียดนามและจีนอยู่ที่ 59,000 ดองต่อกิโลกรัม (ลดลง 6%YoY แต่เพิ่มขึ้น 8%QoQ) และ 16 หยวนต่อกิโลกรัม (ลดลง 31%YoY แต่เพิ่มขึ้น 9%QoQ) ใน 3Q66TD เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นที่ 47,500 ดองต่อกิโลกรัม และ 16.5 หยวนต่อกิโลกรัม ราคามีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางอุปทานใหม่
ต้นทุนปลาทูน่าลดลง QoQ แต่ยังคงเพิ่มขึ้น YoY ราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) ลดลง QoQ สู่ 1,850 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันใน 3Q66TD (ลดลง 7%QoQ แต่เพิ่มขึ้น 9%YoY) จากการจับปลาที่ดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงเพิ่มขึ้น YoY เนื่องจากอุปทานลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร
ปริมาณการขายอาหารทะเลของ TU มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอีก YoY ใน 3Q66 เนื่องจากลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อใหม่เพราะราคาปลาทูน่าสูง (1,895 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2566TD, เพิ่มขึ้น 14%YoY) และมีการเก็บสินค้าคงคลังน้อยกว่าปกติ หลังจากระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือกลับสู่ภาวะปกติในระยะถัดไป และจะต้องจับตาดูว่าราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) ในช่วงปลายปี 2566 จะลดลงต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันหรือไม่ (เทียบกับ 1,645 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565) เนื่องจาก TU คาดว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดระยะเวลาการห้ามใช้เครื่องมือล่อปลา (FAD) ในเดือนกันยายน โดยต้นทุนจะค่อยๆ ลดลง และยอดขายจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มอาหาร (SETFOOD) ปรับเพิ่มขึ้น 5.19%MoM ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.16%MoM
แนวโน้มผลประกอบการใน 3Q66:
InnovestX Research คงมุมมองระมัดระวังต่อผลประกอบการ 3Q66 ของกลุ่มอาหาร (BTG, CPF, GFPT และ TU) ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะลดลง YoY อันเป็นผลมาจากมาร์จิ้นที่แคบลง โดยอาจมีผลขาดทุนจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุกรในประเทศ ราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเร็วกว่าต้นทุนอาหารสัตว์สำหรับธุรกิจไก่เนื้อ และต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าระดับสูงท่ามกลางปริมาณการขายที่ลดลงสำหรับธุรกิจอาหารทะเล
แม้คาดว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้นบ้างเล็กน้อย QoQ จากปัจจัยฤดูกาล แต่ยังมองไม่เห็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นในระยะสั้น เนื่องจากเทศกาลกินเจกำลังใกล้เข้ามา (15-23 ตุลาคม) เพราะราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกมักจะทรงตัวหรือลดลง 2-4 สัปดาห์ก่อนและหลังเทศกาลกินเจ เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ถึงผลประกอบการ 3Q66 ที่อ่อนแอ ดังนั้นจึงไม่มีหุ้นเด่นในกลุ่มอาหาร (BTG, CPF, GFPT และ TU)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเนื่องจากกำลังซื้อเปราะบางอันเป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อและอุปทานที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล