×

DTAC รายงานกำไรปกติ 4Q64 ออกมากำไรต่ำกว่าคาด

01.02.2022
  • LOADING...
DTAC

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) รายงานกำไรสุทธิ 4Q64 จำนวน 171 ล้านบาท ลดลง 79.5%QoQ และ 39.2%YoY โดยใน 4Q64 บริษัทบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเกี่ยวกับการตัดจำหน่ายทรัพย์สินสืบเนื่องจากการคืนพื้นที่เช่าบนเสาโทรคมนาคมที่บริษัทเช่าจากผู้อื่น จำนวน 344 ล้านบาท (หลังภาษี) หากตัดรายการนี้ออกไป พบว่ากำไรปกติอยู่ที่ 515 ล้านบาท ลดลง 26.1%QoQ และ 41.9%YoY นอกจากนี้ DTAC ยังประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 2H64 จำนวน 1.05 บาทต่อหุ้น (ผลตอบแทนจากเงินปันผล 2.2%) ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับปี 2564 DTAC รายงานกำไรสุทธิ 3.4 พันล้านบาท ลดลง 34.3%YoY

 

แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลง แต่ DTAC ยังคงรายงานรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ทรงตัว QoQ และลดลง 0.6%YoY ซึ่งผู้บริหารยอมรับว่ารายได้ฟื้นตัวช้ากว่าคาดเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า จำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิอยู่ที่ 286,000 เลขหมาย (จาก 26,000 เลขหมายใน 3Q64) โดยแบ่งเป็นระบบเติมเงิน 281,000 เลขหมาย และระบบรายเดือน 5,000 เลขหมาย

 

ขณะที่ SCBS พบว่าโมเมนตัมจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิในระบบรายเดือนของ DTAC ยังอ่อนแอต่อเนื่อง Blended ARPU อยู่ที่ 245 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ลดลงจาก 247 บาทใน 3Q64 โดยมีสาเหตุมาจากการแข่งขันเชิงรุกและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ 

 

ด้านรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์อยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท เติบโต 198.9%QoQ และ 32.5%YoY สะท้อนถึงการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ ขาดทุนจากการขายเครื่องโทรศัพท์อยู่ในระดับสูงตามคาดที่ 694 ล้านบาท เนื่องจาก DTAC เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้ส่วนลดราคา iPhone รุ่นใหม่เชิงรุกมากที่สุด ค่าใช้จ่าย SG&A อยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6%QoQ เนื่องจากโดยปกติแล้วไตรมาส 4 เป็นไตรมาสที่ค่าใช้จ่ายการตลาดสูงที่สุด

 

กระทบอย่างไร:

วันที่ 31 มกราคม 2565 ราคาหุ้น DTAC ปรับตัวลดลง 0.7%DoD สู่ระดับ 140.00 บาท แย่กว่า SET Index ที่ปรับตัวลง 0.3%DoD สู่ระดับ 1,652.73 จุด 

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS ประเมินกำไรปกติ 4Q64 ออกต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ 28% และต่ำกว่า Consensus คาดการณ์ไว้ 26.1% โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่าย SG&A ที่สูงกว่าคาด ซึ่ง SCBS คาดการณ์ไว้ที่ 3.6 พันล้านบาท เทียบกับตัวเลขจริงที่ 3.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ แม้ผลประกอบการออกมาน่าผิดหวังอย่างมาก แต่ SCBS ไม่คิดว่าจะเห็นแรงเทขายมากนัก เนื่องจากราคา Tender Offer จะช่วยจำกัด Downside แม้ว่าจะมีการปรับราคา Tender Offer ที่ 47.76 บาท ลดลงเพื่อสะท้อนเงินปันผล

 

มุมมองระยะยาว:

ในปี 2565 DTAC มีเป้าหมายทางการเงิน โดยผู้บริหารคาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC และ EBITDA จะอยู่ในระดับคงที่จนถึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่เป็นเลขหลักเดียวระดับตํ่า และมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาท บริษัทระบุว่าเป้าหมายทางการเงินดังกล่าวอิงกับการดำเนินงานธุรกิจตามปกติ (ไม่มีดีลกับ TRUE) โดยรวมแล้วสมมติฐานของ SCBS ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมมากกว่าเป้าของบริษัท เนื่องจาก SCBS คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC จะลดลง 0.8% ในปี 2565

 

ส่วนความคืบหน้าดีลระหว่าง TRUE-DTAC บริษัทคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงที่มีผลผูกพันภายในสิ้น 1Q65 จากนั้นจะดำเนินการยื่นขออนุมัติและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจ (VTO) ซึ่งผู้บริหารคาดว่าธุรกรรมนี้จะแล้วเสร็จใน 2H65 โดย Telenor และ CP Group วางแผนถือหุ้นฝ่ายละ 1 ใน 3 ของบริษัทใหม่

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X