เกิดอะไรขึ้น:
ราคาหุ้น CPF แทบไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับธุรกิจสุกรที่อ่อนแอเป็นเวลานาน ซึ่งคาดว่าราคาหุ้น CPF จะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยกระตุ้นดังต่อไปนี้
ปัจจัยกระตุ้น 1: การพลิกกลับมามีกำไรปกติใน 1Q67 ดีเกินคาด กำไรสุทธิ 1Q67 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ฟื้นตัวจากขาดทุนสุทธิ 2.7 พันล้านบาท ใน 1Q66 และดีกว่ากำไรสุทธิ 121 ล้านบาท ใน 4Q66 สูงกว่าที่ประเมินไว้ว่าจะมีขาดทุนสุทธิ 1 พันล้านบาท จากอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขายที่ต่ำกว่าคาด และส่วนแบ่งกำไรที่ดีกว่าคาด หากไม่รวมกำไรพิเศษ 620 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ)
ส่วนกำไรปกติ 1Q67 อยู่ที่ 532 ล้านบาท ฟื้นตัวจากขาดทุนปกติ 3.3 พันล้านบาท ใน 1Q66 และ 8 พันล้านบาท ใน 4Q66 สูงกว่าที่ประเมินไว้ว่าจะมีขาดทุนปกติ 2-3 พันล้านบาท การปรับตัวดีขึ้น YoY ได้รับการสนับสนุนจาก
- อัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากราคาสุกรที่สูงขึ้นในประเทศเวียดนาม ราคาและการส่งออกไก่เนื้อที่ดีขึ้นจากประเทศไทย และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง
- อัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขายที่ลดลงนำโดย CPP HK ซึ่งขายฟาร์มไก่ที่สร้างผลขาดทุนในจีนออกไปบางส่วนใน 4Q66
- ส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจาก CPALL (ธุรกิจ CVS แข็งแกร่ง), CTI (ขายฟาร์มสุกรที่สร้างผลขาดทุนในจีนออกไปบางส่วนใน 4Q66) และ Hylife (ขายธุรกิจที่มีผลขาดทุนในสหรัฐฯ ใน 3Q66)
ปัจจัยกระตุ้น 2: การเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรปกติ 2Q67 จะเติบโต QoQ จากราคาสัตว์บกที่ปรับตัวดีขึ้นในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ท่ามกลางต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง และฟื้นตัวจากขาดทุนใน 2Q66 จากธุรกิจสัตว์บกที่ดีขึ้นในประเทศหลักๆ และประโยชน์จากการขายธุรกิจที่สร้างผลขาดทุนออกไปบางส่วน (CPP HK และ CTI ใน 4Q66, Hylife ใน 3Q66)
สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทยใน 2Q67TD ราคาสุกรในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 8%QoQ สู่ 71 บาทต่อกิโลกรัม (แต่ลดลง 10%YoY) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ 63-68 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากอากาศร้อนส่งผลกระทบต่ออุปทาน ราคาไก่เนื้อในประเทศอยู่ที่ 44 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 8%QoQ และ 3%YoY เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 38-40 บาทต่อกิโลกรัม) จากความต้องการส่งออกที่ดีขึ้น
ต้นทุนข้าวโพดในประเทศและกากถั่วเหลืองนำเข้าอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 1%QoQ และ 20%YoY) และ 20.6 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 7%QoQ และ 11%YoY) จากสภาวะการเพาะปลูกที่ดีขึ้น การดำเนินงานต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นำโดยราคาสุกรที่ดีขึ้นในประเทศเวียดนาม ใน 2Q67TD ราคาสุกรในประเทศเวียดนามและประเทศจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 6 หมื่นดองต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 10%YoY และ 12%QoQ เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 4.5 หมื่นดองต่อกิโลกรัม) และ 15 หยวนต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 6%YoY และ 5%QoQ เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 16.5 หยวนต่อกิโลกรัม) จากภาวะอุปสงค์และอุปทานที่ดีขึ้น
ปัจจัยกระตุ้น 3: การปรับประมาณการเพิ่มขึ้น โดยปรับประมาณการกำไรปกติปี 2567 ของ CPF เพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านบาท สู่ 6 พันล้านบาท เพื่อสะท้อน
- อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากราคาสัตว์บกที่ดีขึ้นท่ามกลางต้นทุนอาหารสัตว์ระดับต่ำใน 2Q67TD
- อัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขายที่ลดลง เพื่อสะท้อนการควบคุมค่าใช้จ่าย YTD
- ส่วนแบ่งกำไรที่สูงขึ้น สะท้อนกำไรที่ดีขึ้นจาก CPALL และ CTI
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น CPF ปรับขึ้น 11.35% สู่ระดับ 20.60 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 1.71% สู่ระดับ 1,372.50 จุด
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:
InnovestX Research ปรับคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือน สำหรับ CPF ขึ้นสู่ Outperform โดยปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี SOTP ใหม่เป็น 26 บาทต่อหุ้น (จาก 22.5 บาท) ซึ่งประกอบด้วย 2 บาท สำหรับธุรกิจของ CPF (PE 12 เท่าสำหรับธุรกิจอาหารสัตว์ PE 10 เท่าสำหรับธุรกิจฟาร์ม และ PE 14 เท่าสำหรับธุรกิจอาหาร) และ 24 บาท สำหรับการถือหุ้นใน CPALL และ CPAXT
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคืออุปสงค์และราคาที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่เปราะบางและอุปทานที่มากขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยง ESG ที่สำคัญคือการบริหารจัดการพลังงาน ของเสีย และน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) นโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค/พนักงาน (S)