เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (14 กันยายน) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญในวันที่ 27 ตุลาคม เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ Chia Tai Investment (CTI) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CPF ที่ถือหุ้นผ่าน C.P. Pokphand (CPP)) เข้าซื้อกิจการฟาร์มสุกรในประเทศจีนจำนวน 43 บริษัท ที่ถือหุ้นโดย Chia Tai Animal Husbandry Investment (CTAI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์กรุ๊ป (CPG)
โดยการชำระค่าตอบแทนด้วยการออกหุ้นใหม่ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65% ของหุ้นทั้งหมดของ CTI คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.31 แสนล้านบาทให้แก่ CTAI เมื่อธุรกรรมนี้เสร็จสิ้นจะส่งผลให้ CPF ถือหุ้น 35% ใน CTI และ CTAI จะถือหุ้น 65% ใน CTI
ส่งผลให้ CTI เปลี่ยนสถานะมาจากบริษัทย่อยมาเป็นบริษัทร่วมของ CPF แทน เบื้องต้นคาดว่าธุรกรรมนี้จะเสร็จสิ้นใน 4Q63
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (15 กันยายน) ราคาหุ้น CPF ปรับตัวขึ้น 3.45%DoD สู่ระดับ 30.00 บาท พร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น (ข้อมูลราคาปิด ณ 12.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกรรมนี้เนื่องจาก
- CTI จะกลายเป็นผู้ประกอบการฟาร์มสุกรรายใหญ่อันดับ 4 ในประเทศจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 1% ในช่วงที่ราคาสุกรอยู่ในระดับสูง (RMB 36 กก. เทียบกับจุดคุ้มทุน RMB 14 ต่อ กก.)
- CPF จะได้ประโยชน์จากการผนึกกำลังทางธุรกิจในรูปแบบของรายได้จากธุรกิจอาหารสุกรที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มการผลิตสุกรที่กลุ่มบริษัท ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 8-12 ล้านตัวต่อปีในปี 2564-2565 จากปี 2563 ที่ระดับ 4.5 ล้านตัว
- CPF มีแผนนำ CTI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้ Valuation เพิ่มขึ้น โดย P/E ration ย้อนหลัง 12 เดือนของ CTI หลังธุรกรรมเสร็จสิ้นจะอยู่ที่ 7.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 10-20 เท่า
- ธุรกรรมนี้จะช่วยหนุนให้กำไรของ CPF เพิ่มขึ้น โดย CPF คาดว่ากำไรสุทธิ 12 เดือนล่าสุดจะเพิ่มขึ้น 11% (ไม่รวมกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพและกำไรที่เกิดขึ้นจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนจำนวน 2.6 พันล้านบาท) ขณะที่อัตราหนี้สินต่อทุนจะลดลงจาก 1.4 เท่าเหลือ 1.3 เท่า
ทั้งนี้กำไรของ CPF จะมีความผันผวนมากขึ้นหลังจากซื้อธุรกิจสุกร ซึ่งแลกกับการมีสัดส่วนลดลงในธุรกิจอาหารสัตว์ที่ลดลง
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาวต้องติดการฟื้นตัวของอุปทานสุกรหลังจากการแพร่ระบาดของโรค (ASF) เบาบางลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทางราคาสุกรในอนาคต รวมถึงติดตามต้นทุนอาหารสัตว์ที่จะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโอกาส 70%
ที่จะเกิดภาวะลานีญาจนถึงต้นปี 2564 อ้างอิงข้อมูลจาก NOAA
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า