เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รายงานขาดทุนสุทธิ 4.8 พันล้านบาทใน 3QFY67 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566) เทียบกับกำไรสุทธิ 257 ล้านบาทใน 2QFY67 และกำไรสุทธิ 1 พันล้านบาทใน 3QFY66 โดยใน 3QFY67 BTS บันทึกรายการพิเศษหลายรายการด้วยกัน
โดยรายการที่สำคัญคือ ขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนใน KEX และ SINGER หากตัดรายการเหล่านี้ออกไปกำไรปกติอยู่ที่ 144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 335.7%QoQ แต่ลดลง 87.7%YoY กำไรปกติที่เติบโต QoQ ได้แรงหนุนจากธุรกิจสื่อโฆษณาที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่กำไรปกติที่ลดลง YoY เกิดจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
InnovestX Research มีมุมมองเป็นกลางจากการประชุมนักวิเคราะห์ที่ BTS จัดขึ้นหลังการรายงานผลประกอบ โดยผู้บริหารกล่าวว่า บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะขายหุ้น KEX ผ่านการทำ Tender Offer หรือไม่ บริษัทจะตัดสินใจครั้งสุดท้ายในเดือนมีนาคม โดยมีเหตุผลหลักๆ คือ เพื่อไม่ให้ KEX เป็นตัวถ่วงงบกำไรขาดทุนของบริษัทต่อไปหลังจากนี้ ดังนั้นคาดว่าจะเห็นการขายหุ้น KEX ออกไปบางส่วน เนื่องจากต้นทุนหุ้น KEX หลังบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าอยู่ที่ 5.5 บาทต่อหุ้น ทำให้ในกรณีที่ BTS ตัดสินใจขายหุ้น KEX ออกไปจริงจะไม่เห็นการบันทึกกำไรพิเศษจากการขาย
นอกจากนี้ BTS ยังชี้แจงว่า หนี้ที่ กทม. เตรียมที่จะจ่ายค่า E&M กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท รวมถึงเงินอุดหนุนสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่ได้จากรัฐบาลนั้น บริษัทจะไม่มีการบันทึกเงินส่วนนี้เข้าไปที่งบกำไรขาดทุน สำหรับจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS นั้น บริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2568 สอดคล้องกับที่ได้คาดการณ์
กระทบอย่างไร:
หลังรายงานผลประกอบการวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ราคาหุ้น BTS ปรับลง 6.67% สู่ระดับ 5.60 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 0.16% สู่ระดับ 1,387.33 จุด
แนวโน้มผลประกอบการ FY2567:
แม้กำไรสุทธิน่าจะปรับตัวดีขึ้น QoQ แต่เชื่อว่ากำไรปกติยังไม่น่าจะถึงจุดต่ำสุด โดยใน 4QFY67 คาดว่าต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานปกติ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ดี InnovestX Research ปรับประมาณการปี FY2567 ลดลงสู่ขาดทุน 5.5 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนขาดทุนจากการด้อยค่าและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่ต่ำกว่าคาด ก่อนหน้านี้คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของทั้งสองสายที่ 75,000 เที่ยวคนต่อวัน แต่จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย YTD สำหรับสายสีชมพูอยู่ที่ 50,000 เที่ยวคนต่อวัน และสายสีเหลืองอยู่ที่ 35,000 เที่ยวคนต่อวัน
ดังนั้นจึงปรับสมมติฐานลดลงให้สอดคล้องกับตัวเลขเหล่านี้ โดยคาดว่าผลประกอบการปี FY2568 จะพลิกกลับมามีกำไรได้ที่ 252 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีขาดทุนจาก KEX และธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ แม้ราคาหุ้น BTS ปรับตัวลดลงมาแล้ว 22.8%YTD แต่กลยุทธ์การลงทุนยังคงคำแนะนำ NEUTRAL โดยปรับราคาเป้าหมายลดลงสู่ 9.6 บาทต่อหุ้น (จาก 11.2 บาท) เพื่อสะท้อนการปรับประมาณการผลประกอบการลดลงและมูลค่าเงินลงทุนใน VGI และ RABBIT ที่ลดลง และมองว่าราคาหุ้น BTS ยังขาดปัจจัยกระตุ้น เนื่องจากกำไรปกติยังไม่ถึงจุดต่ำสุด
ส่วนราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 6 บาทต่อหุ้น หากตัดมูลค่าการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป ทั้งนี้ การที่ กทม. จะจ่ายหนี้สัญญา E&M อาจทำให้สมมติฐานการต่อสัมปทานใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะต้องมีการเจรจาสัญญากันใหม่
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ประเด็น Overhang เกี่ยวกับการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการชำระหนี้งาน O&M จาก กทม. ความเสี่ยงด้าน ESG สำหรับ BTS คือความน่าเชื่อถือในการให้บริการ