เกิดอะไรขึ้น:
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ปรับตัวลงแรง 9.1% WoW เหตุผลหลักมาจากนักลงทุนกังวลว่า บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อนำเงินไปซื้อธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในอินโดนีเซีย จาก Standard Chartered Bank และ Astra ที่ถือหุ้นเพอร์มาตารวมกัน 89.12% หลังจากนั้นจะจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นในส่วนที่เหลือ 10.88% คาดจะใช้เงินทุนรวมทั้งสิ้นราว 9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ BTS นับเป็นหนึ่งในหุ้นที่ BBL ถืออยู่ในพอร์ตลงทุน โดยถืออยู่ราว 545.5 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.34% ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้ว จึงสร้างความกังวลและกดดันราคาหุ้น BTS ให้ปรับตัวลงติดต่อกัน 4 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ 13 จนถึง 18 ธันวาคม 2562
จนกระทั่งเมื่อเช้านี้ (19 ธันวาคม) มีรายการขายบิ๊กล็อตหุ้น BTS จำนวน 600 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.56% ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้ว ที่ราคาหุ้นละ 12.40 บาท ซึ่งผู้บริหาร BTS ได้ออกมาเปิดเผยว่าเป็นการทำรายการขายของ BBL ตามที่คาดไว้นั่นเอง
กระทบอย่างไร:
เช้านี้ (19 ธันวาคม) ราคาหุ้น BTS เปิดปรับตัวลงทันทีของการซื้อขาย โดยเปิดที่ราคา 12.70 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ราคา 12.40 บาท ลดลง 3.9%DoD ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่มีการทำรายการบิ๊กล็อตในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้
อย่างไรก็ดี หลังรายการขายบิ๊กล็อตเสร็จสิ้นในช่วงเช้า พบว่า เริ่มมีแรงซื้อหนาแน่นกลับเข้ามาในหุ้น BTS จนทำให้ปิดตลาดสิ้นวันนี้ราคาหุ้น BTS ปิดที่ 13.20 บาท เพิ่มขึ้น 2.3%DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินว่า ความกังวลที่ตลาดมีมาตลอดทั้งสัปดาห์เกี่ยวกับแรงขายหุ้น BTS จาก BBL ได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ดี ประเด็นการขายหุ้นดังกล่าวมองเป็นเพียงสัญญาณเชิงลบทางจิตวิทยาระยะสั้นๆ เท่านั้น และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของ BTS แต่อย่างใด
โดย BTS ยังมีทิศทางกำไรอยู่ในภาวะขาขึ้นจากการเติบโตในทุกธุรกิจ อีกทั้งยังมีความคาดหวังเชิงบวกที่น่าติดตามจากความคืบหน้าการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ ครม. อนุมัติ ซึ่งคาดจะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นให้ราคาหุ้น BTS ปรับขึ้นได้ เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าบริษัทได้ดำเนินธุรกิจต่อเนื่องดีกว่าปล่อยให้สัมปทานสิ้นสุดลงไปในปี 2572 อีกทั้งคาดจะช่วยเพิ่ม Upside ให้แก่มูลค่าพื้นฐาน หลังปัจจุบันหลายโบรกเกอร์ยังไม่ได้รวมประเด็นนี้ไว้ในประมาณการ
มุมมองระยะยาว:
ต้องติดตามการประชุม ครม. ว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติการต่ออายุสัมปทานครั้งนี้ด้วยรายละเอียดเงื่อนไขสุดท้ายอย่างไร รวมทั้งความคืบหน้าการประมูลงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หลังตลาดมีความกังวลมากขึ้นจากศาลปกครองมีคำสั่งให้กองทัพเรือรับพิจารณาเอกสารการประมูลของกลุ่ม CP รวมถึงติดตามการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมไทย) ซึ่งคาดมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 รายได้แก่ BTS และ BEM ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย ซึ่งคาดจะมีการเซ็นสัญญาต้นปีหน้า โดยโครงการเหล่านี้จะช่วยหนุนต่อผลการดำเนินงานของ BTS ได้ในระยะยาว
ข้อมูลเพิ่มเติม
บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ประกอบธุรกิจ 4 ประเภทหลัก
- ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ประกอบด้วยรถไฟฟ้า BTS และรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT
- ธุรกิจสื่อโฆษณา ดำเนินธุรกิจผ่าน บมจ.วีจีไอ (VGI) ซึ่ง BTS ถือหุ้น 65% โดย VGI ได้รับสัมปทานพื้นที่โฆษณาทั้งหมดของสถานีรถไฟฟ้า BTS สายหลัก
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจผ่าน บมจ.ยู ซิตี้ (U) ซึ่ง BTS ถือหุ้น 36% โดย U เน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า
- ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ โปรแกรมสะสมคะแนน Rabbit Rewards และห้องอาหารจีนในเครือเชฟแมน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์