เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (14 เมษายน) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รายงานกำไรสุทธิ 1Q63 ที่ 508 ล้านบาท ลดลง 2.08% QoQ และลดลง 40.9% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 548 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่หดตัวลง YoY เกิดจากค่าใช้จ่ายการให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-หลักสอง) ขณะที่รายได้จากธุรกิจทางด่วนหดตัวลง 10.8% YoY จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้รายได้โดยรวมของบริษัทหดตัวลง
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (15 พฤษภาคม) ราคาหุ้น BEM ไม่เคลื่อนไหวมากนัก ปิดที่ระดับ 9.50 บาท เท่ากับราคาปิดวันก่อนหน้า
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าผลประกอบการ 2Q63 ของ BEM จะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องจาก 1Q63 และจะทำจุดต่ำสุดของปีนี้ โดยอย่างยิ่งเฉพาะในเดือนเมษายน เนื่องจากประชาชนเดินทางออกจากบ้านน้อยลง รวมถึงหลายบริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-91
โดย BEM ได้รายงานจำนวนผู้โดยสาร MRT เดือนเมษายน หดตัว 73.5% YoY สู่ระดับ 7.8 หมื่นเที่ยวต่อวัน ปริมาณการจราจรบนทางด่วนหดตัว 50% YoY สู่ระดับ 5.9 แสนเที่ยวต่อวัน ขณะที่ปริมาณจราจรบนทางด่วนในเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน (ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้น) ลดลง 27% YoY และจำนวนผู้โดยสาร MRT ลดลง 54% YoY ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณจราจรและจำนวนผู้โดยสารได้ผ่านพ้นจุดไปแล้วในเดือนเมษายน
อย่างไรก็ดี รายได้เงินปันผลจาก TTW และ CKP จำนวนประมาณ 260 ล้านบาท น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านลบจากปริมาณจราจรที่ลดลง
ทั้งนี้ ต้องติดตามรายงานปริมาณการจราจรบนทางด่วน และผู้โดยสารรถไฟฟ้า ประจำเดือนพฤษภาคม หลังจากหลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่สำนักงาน
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาว SCBS เชื่อว่าทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนล้วนเป็นตัวเลือกในการเดินทางที่ดีที่สุดของคนกรุงเทพฯ ดังนั้นหากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจบลง จะช่วยหนุนให้ผลประกอบการของ BEM ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
SCBS คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ของ BEM ที่ 2.37 พันล้านบาท ลดลง 56.41% YoY จาก 5.4 พันล้านบาท ในปี 2562 ทั้งนี้ ต้องติดตามการประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมูลช่วงไตรมาส 3/63
ข้อมูลเพิ่มเติม:
% DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
% YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์