เกิดอะไรขึ้น:
เย็นวานนี้ (9 มิถุนายน) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รายงานปริมาณจราจรบนทางด่วน เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 8.05 แสนเที่ยวต่อวัน ลดลง 34%YoY ส่งผลทำให้ปริมาณจราจรตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนพฤษภาคม (YTD) ลดลง 23%YoY สู่ระดับ 9.53 แสนเที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ BEM เปิดเผยว่าเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน โดยปริมาณการจราจรอยู่ที่ 1.07 ล้านเที่ยวต่อวัน
สำหรับจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 1.19 แสนเที่ยวต่อวัน ลดลง 61%YoY ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนพฤษภาคม (YTD) ลดลง 24.1%YoY สู่ระดับ 2.38 แสนเที่ยวต่อวัน นอกจากนี้จำนวนผู้โดยสารช่วงต้นเดือนมิถุนายนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 2.12 แสนเที่ยวต่อวัน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน
กระทบอย่างไร:
วันนี้ราคาหุ้น BEM เคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วง 9.90-10.10 บาท และปิดที่ระดับ 10.00 บาท เท่ากับราคาปิดเมื่อวาน
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าตลาดได้รับรู้ต่อตัวเลขปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เดือนพฤษภาคมที่จะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้ในวันนี้ราคาหุ้น BEM ไม่ตอบสนองต่อประเด็นนี้มากนัก
อย่างไรก็ดี ในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้น BEM ปรับตัวขึ้นมาแรงจากจุดต่ำสุด ซึ่งได้สะท้อนความคาดหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการจราจรในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
สำหรับเดือนมิถุนายน SCBS คาดว่าทั้งจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการจราจรจะยังคงหดตัว YoY ต่อเนื่อง แต่จะฟื้นตัวดีขึ้น MoM
มุมมองระยะยาว:
SCBS เชื่อว่าทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนล้วนเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการเดินทางสำหรับคนกรุงเทพฯ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จบสิ้นลง BEM จะยังคงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังต้องติดตามการประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมูลช่วงปลายปี 2563 รวมถึงการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย
ข้อมูลเพิ่มเติม:
%YoY คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
%MoM คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์