เกิดอะไรขึ้น:
บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เดือนพฤศจิกายน 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.16 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 16.9% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 และ 21.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยได้รับปัจจัยหนุนงานสำคัญที่เกิดขึ้นใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในเดือนที่แล้ว เช่น งานกาชาด และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนไทย และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะขยายตัวขึ้นอีกในเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจาก BEM เริ่มทดลองเดินรถสำหรับ 4 สถานีแรกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายโซน 3 (บางโพ บางอ้อ บางพลัด และสิรินธร) ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา และมีแผนที่จะเปิดเส้นทางเพิ่มอีก 4 สถานี คือ สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีแยกไฟฉาย สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 ไปบรรจบกับสถานีท่าพระในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น กระตุ้นให้จำนวนผู้โดยสารโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น
กระทบอย่างไร:
ราคาหุ้น BEM ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม จาก 10.80 บาท จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 11.60 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 7.4% ตอบรับประเด็นบวกการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าว
ขณะที่ประเด็นการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่จะเริ่มในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เป็นเวลา 3 เดือนนั้น SCBS มองว่า ไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยชดเชยกับค่าโดยสารที่ลดลงได้
มุมมองระยะสั้น:
ยังคงต้องติดตามการขยายสัมปทานสำหรับทางด่วนโครงการทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และโครงการทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) รวมทั้งการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งอยู่ในระหว่างเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ทันภายในปีนี้
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่า ปี 2563 จะเป็นปีทองของ BEM หนุนจากแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ที่คาดจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงสุดในรอบ 9 ปี ขณะที่ประเด็นการขยายสัมปทานทางด่วนนั้น หากภาครัฐเลือกขยายสัมปทาน 15 ปี BEM จะไม่ต้องลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น ซึ่งจะให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มแก่บริษัทฯ เพียงเล็กน้อย แต่หากภาครัฐมีการขยายสัมปทานฯ ออกไปอีก 30 ปี แลกกับการที่ BEM จะต้องสร้างทางด่วน 2 ชั้น แม้จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมราว 3.15 หมื่นล้านบาท แต่ SCBS ประเมินว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ มากกว่า ทั้งในระยะสั้นจากค่าจัดจำหน่ายที่จะลดลงอย่างมากในปี 2563 และในระยะยาวจากแนวโน้มกำไรที่จะชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้น
ข้อมูลพื้นฐาน:
สัมปทานทางด่วนที่ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กำลังจะหมดอายุฯ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 มี 2 โครงการ คือ
- โครงการทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ช่วงดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, และท่าเรือ-ดาวคะนอง ระยะทางรวม 27.1 กิโลเมตร
- โครงการทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่ 2) 3 ส่วน ได้แก่ ส่วน A ช่วงถนนพระราม 9-ถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร, ส่วน B ช่วงรัชดาภิเษก-บางโคล่ ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร, และส่วน C ช่วงถนนรัชดาภิเษก-ถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทาง 8 กิโลเมตร
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล