เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ประกาศเข้าลงทุนในโครงการ BDMS Silver Wellness & Residence ซึ่งเป็นการเดินหน้าเพื่อขยายธุรกิจด้านส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2.35 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
- เม็ดเงิน 9.1 พันล้านบาท สำหรับค่าเช่าที่ดินระยะเวลา 30 ปี และต่อสัญญาเช่าได้อีก 30 ปี ตั้งอยู่บนถนนหลังสวน (ตรงข้ามสวนลุมพินี)
- เม็ดเงิน 1.44 หมื่นล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมือทางการแพทย์ และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการดำเนินโครงการ
ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ประกอบด้วยคลินิก โรงแรม และที่พักอาศัย ซึ่งตั้งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภค กลุ่ม Sliver Age (อายุ 55 ปีขึ้นไป) และชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยระยะยาว ที่มีความตระหนักในกระแสรักสุขภาพด้วยการทำกิจกรรมที่นำไปสู่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น การก่อสร้างจะใช้เวลา 6 ปีครึ่ง และจะเริ่มดำเนินการในปี 2572
ส่วนฐานะการเงินของ BDMS ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดภายในของบริษัทและการกู้ยืม ถ้าการลงทุนครั้งนี้ใช้แหล่งเงินทุนทั้งหมดจากการกู้ยืม อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของ BDMS จะเพิ่มขึ้นสู่ 0.3 เท่า (จาก 0.02 เท่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) และต่ำกว่า Debt Covenant ที่ 1.75 เท่าอย่างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า BDMS ยังสามารถกู้ยืมได้อีกราว 1.34 แสนล้านบาท สำหรับโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับ BDMS Wellness Clinic ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพในปัจจุบันของ BDMS ในปี 2564 รายได้อยู่ที่ราว 800 ล้านบาท (1% ของรายได้ของ BDMS) โดยมี EBITDA เป็นบวกแล้วหลังจากเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2562 ในขณะที่สัดส่วนรายได้น้อยมาก
แต่ SCBS มองว่าธุรกิจด้านส่งเสริมสุขภาพมีโอกาสเติบโตในระยะยาว จากข้อมูลของ Global Wellness Institute มูลค่าตลาดด้านการส่งเสริมสุขภาพรวมอยู่ที่ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 ซึ่งครอบคลุมหลายกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ
เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงคาดว่าตลาดด้านการส่งเสริมสุขภาพรวมจะเติบโตที่ CAGR 10% ในปี 2563-2568 โดยกลุ่มท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) จะเติบโตมากที่สุดที่ CAGR 20% ในปี 2563-2568
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) และพยายามดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาในประเทศ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 50,000 บาท โดยสามารถพำนักในประเทศไทยได้นานถึง 10 ปี
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ไม่เปลี่ยนแปลง MoM อยู่ที่ระดับ 25.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลง 0.79%MoM อยู่ที่ระดับ 1,654.21 จุด
แนวโน้มผลประกอบการในปี 2565:
SCBS มองว่าการลงทุนในโครงการ BDMS Silver Wellness & Residence เป็นพัฒนาการที่ดีในระยะยาว โดยจะเปิดโอกาสให้ BDMS เติบโตตามเทรนด์โลกที่หันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้บริการศูนย์เวชศาสตร์ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านราคาหุ้น BDMS ปรับตัวลดลงกว่า 4% สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมองว่าเป็นการปรับตัวลดลงแรงเกินไป
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อมูลในปัจจุบันมีจำกัด SCBS จึงมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบต่อผลประกอบการจากโครงการนี้ ดังนั้นจึงยังคงคาดว่ากำไรของ BDMS จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเติบโต 39% สู่ 1.06 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด อันเป็นผลมาจากจำนวนผู้ป่วยคนไทยที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยบริการโควิดที่กลับคืนสู่ภาวะปกติ
ส่วนผลประกอบการ 2Q65 คาดกำไรจะเติบโต YoY แต่จะอ่อนตัวลง QoQ เพราะเป็นช่วง Low Season สำหรับบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด
นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 2565 คือ การผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง จะส่งผลให้มีผู้ป่วยที่เดินทางโดยเครื่องบิน และผู้ป่วยกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งคาดว่าบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติ (ประมาณ 30% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 2H65