เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (3 กุมภาพันธ์) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยเป้าหมายทางการเงินปี 2565 ในการประชุมนักวิเคราะห์ โดยสรุปได้ดังนี้
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 2.6 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น Credit Cost ราว 1%) เทียบกับ 3.4 หมื่นล้านบาท (Credit Cost 1.38%) ในปี 2564
- อัตราส่วน NPL ต่ำกว่า 4% เทียบกับ 3.2% (ตามการคำนวณของธนาคาร) ณ สิ้นปี 2564 สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ BBL อยู่ในระดับทรงตัว QoQ ที่ 11% ของสินเชื่อรวม ณ 4Q64 โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
- การเติบโตของสินเชื่อ: 4-6% เทียบกับ 9% ในปี 2564 ซึ่งจำแนกตามประเภทสินเชื่อประกอบด้วย: 4-6% สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่, 3% สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง, 1% สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก, 4-6% สำหรับสินเชื่อรายย่อย (หลักๆ เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย) และ 4-6% สำหรับสินเชื่อกิจการต่างประเทศ BBL อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะคว้าโอกาสขยายสินเชื่อจากการย้ายฐานธุรกิจมายังอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศไทย และการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
- NIM ทรงตัวที่ 2.1% BBL คาดว่าประโยชน์จากผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นต่อผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อจะมีไม่มากนักในปี 2565
- การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิคงที่เทียบกับเพิ่มขึ้น 18% ในปี 2564, BBL เชื่อว่าค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจะยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่จะได้รับการชดเชยจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของค่าธรรมเนียม Bancassurance และค่าธรรมเนียมการบริหารสินทรัพย์
- อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้: Low 50% เทียบกับ 50% (ตามการคำนวณของธนาคาร) ในปี 2564
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ราคาหุ้น BBL ปรับตัวขึ้น 1.83%DoD สู่ระดับ 139.00 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองเป้าหมายทางการเงินปี 2565 โดยรวมสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่เป้าหมายการตั้งสำรองของ BBL สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.53 หมื่นล้านบาท (Credit Cost 0.95%) อยู่เล็กน้อย ดังนั้นจึงปรับประมาณการรายการตั้งสำรองสำหรับปี 2565 เพิ่มขึ้นสู่ 2.67 หมื่นล้านบาท (Credit Cost 1%) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่ง BBL จะตั้งสำรอง Management Overlay เพื่อรองรับความไม่แน่นอนตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ LLR Coverage สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารที่ 226% ณ 4Q64 ส่วนเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 4-6% นั้นก็สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 6% ในระดับปานกลาง, NIM ทรงตัว, รายได้ค่าธรรมเนียมคงที่ และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าในปี 2565 กำไรของ BBL จะฟื้นตัวที่ 24% โดยได้รับการสนับสนุนจาก Credit Cost ที่ลดลง 38 bps, การเติบโตของสินเชื่อ 6%, NIM ในระดับทรงตัว และ Non-NII ที่ลดลง 12% ที่หลักๆ เป็นเพราะไม่มีกำไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ดี SCBS ยังคงเลือก BBL เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร เพราะ Valuation น่าสนใจและแนวโน้มการเติบโตของกำไร
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP