×

BBL ได้อะไรจากดีล 9 หมื่นล้านบาท ซื้อธนาคารในอินโดฯ

โดย THE STANDARD TEAM
13.12.2019
  • LOADING...
ธนาคารกรุงเทพ

เกิดอะไรขึ้น:

เย็นวานนี้ (12 ธันวาคม) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงการเข้าซื้อกิจการธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท ในการเข้าถือหุ้นเบื้องต้นในสัดส่วน 89.12% หลังจากนั้นจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดของธนาคารเพอร์มาตาอีก 10.88% โดยการเข้าถือหุ้น 100% จะมีมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท 

 

โดยผู้บริหาร BBL กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า เป็นการขยายตลาดทางด้านการเงินเพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้ารายใหญ่ในประเทศไทยที่ไปลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายของธนาคาร และเพิ่มความสะดวกในการบริการให้กับลูกค้ามากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ BBL ขึ้นเป็นธนาคารระดับภูมิภาค

 

นอกจากนี้ผู้บริหาร BBL ยังระบุว่า การเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร และไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากเงินที่ใช้ในการลงทุนครั้งนี้จะมาจากกระแสเงินสดของธนาคาร และกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งเพียงพอรองรับการทำธุรกรรมดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน โดยขั้นตอนการเข้าซื้อธนาคารเพอร์มาตาจะเสร็จสิ้นในปี 2563

 

กระทบอย่างไร:

ประเด็นข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยมาจากสำนักข่าว Bloomberg ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 12 ธันวาคม โดยยังไม่มีรายละเอียดประกอบมากนัก ส่งผลให้ราคาหุ้น BBL เมื่อเปิดตลาดฯ อยู่ที่ 164.00 บาท ปรับลดลงทันที 5.00 บาท จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 169.00 บาท โดยระหว่างวันลงไปทำจุดสุดที่ 160.00 บาท ก่อนจะฟื้นตัวได้เล็กน้อยและปิดที่ 161.50 บาท ลดลง 4.44% DoD

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS ประเมินว่าการมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ สะท้อนถึงความพยายามของ BBL ในการใช้เงินกองทุนของธนาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) จะลดลงอยู่ที่ 17.2% จาก 20.7% ในไตรมาส 3 ปี 2562 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะลดลงอยู่ที่ 14.5% จากระดับ 17.7% ในไตรมาส 3 ปี 2562 

 

ทั้งนี้หาก BBL เข้าซื้อหุ้นของธนาคารพีที แบงก์ เพอร์มาตา โอกาสที่จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลก็จะลดน้อยลง นอกจากนี้การซื้อหุ้นของธนาคารพีที แบงก์ เพอร์มาตาจะช่วยสนับสนุนให้ ROE ของ BBL ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 9.54% จากเดิม 8.80% และกำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นอีก 8% ซึ่งเกิดจากสินเชื่อที่ขยายตัว และ NIM ที่กว้างขึ้น

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS ยังมีมุมมองบวกต่อ BBL ในฐานะที่เป็นหุ้นวัฏจักรที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มธนาคาร เพราะเป็นธนาคารที่มีเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ (Loan Loss Reserve: LLR coverage) สูงที่สุด สะท้อนถึงการมีเงินสำรองเพื่อรองรับความไม่แน่นอนมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะลดการตั้งสำรองลงมากที่สุดถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว 

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อและส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเป็นเวลานาน รวมทั้งการถูก Disruption จากเทคโนโลยี Mobile Banking ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายผลการดำเนินงานในระยะยาวของ BBL

 

ข้อมูลพื้นฐาน:

บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ SME ลูกค้าบุคคล โดยมีสาขาทั้งในและเครือข่ายในต่างประเทศ รวมทั้งมีบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจการเงินอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุนรวม ธุรกิจจัดหาแหล่งเงินทุน และธุรกิจลงทุน

 

ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย มีลูกค้ารวมกว่า 3.5 ล้านราย ณ 3Q62 เพอร์มาร์ตามีเงินให้สินเชื่อจำนวน 108 ล้านล้านรูเปียห์ (7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 234,000 ล้านบาท) มีเงินรับฝากจำนวน 120 ล้านล้านรูเปียห์ (8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 259,000 ล้านบาท) มีสาขารวม 332 แห่ง และเครื่อง ATM 989 เครื่อง ทั้งนี้เงินให้สินเชื่อ 42% ใน 3Q62 เป็นสินเชื่อธุรกิจ 26% เป็นสินเชื่อ SME และ 32% เป็นสินเชื่อรายย่อย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising