เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 28 กันยายน บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 10-25 bps เป็นธนาคารแรก มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2566 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ปรับขึ้น 25 bps ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำปรับขึ้น 20-25 bps และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ของ BBL ดีกว่าที่ InnovestX Research คาดการณ์ไว้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นมากกว่าคาด ทำให้ประมาณการ NIM มี Upside ประมาณ 8 bps (2 bps สำหรับปี 2566 และ 6 bps สำหรับปี 2567) และคาดว่าธนาคารอื่นๆ จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม BBL โดยคาดว่า KTB จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ TISCO จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
กระทบอย่างไร:
วันที่ 29 กันยายน ณ เวลา 12.30 น. ราคาหุ้น BBL ปรับขึ้น 1.82%DoD และราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับขึ้น 1.62%DoD ขณะที่ SET Index ปรับลง 0.37%DoD
แนวโน้มกำไรปี 2566 และ 2567:
ปัจจุบัน InnovestX Research คาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโต 20% ในปี 2566 โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 3% NIM จะขยายตัว 40 bps Credit Cost จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 12 bps Non-NII จะอยู่ในระดับทรงตัว (รายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัว) และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะลดลงเล็กน้อย
และคาดว่าประมาณการกำไรปี 2567 ของกลุ่มธนาคารมี Upside จากปัจจุบันที่คาดว่าจะเติบโต 7% โดยได้รับการสนับสนุนจาก NIM ที่ขยายตัว 7 bps การเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ 5% Credit Cost ที่ลดลงเล็กน้อย 5 bps Non-NII ในระดับทรงตัว และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลงเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี จะทบทวนประมาณการกำไรปี 2566 และ 2567 ของกลุ่มธนาคาร โดยมีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการเพิ่มขึ้นหลังการประกาศผลประกอบการ 3Q66
ผลประกอบการ 3Q66 คาดกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะลดลง 1%QoQ แต่จะเพิ่มขึ้น 14%YoY (NII เพิ่มขึ้นเนื่องจาก NIM ดีขึ้น) โดยคาดว่า BBL จะเป็นธนาคารที่รายงานกำไรสุทธิ 3Q66 เติบโตแข็งแกร่งที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจาก Credit Cost ที่ลดลงมากที่สุด และ NIM ที่ขยายตัวมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ยังคงเลือก BBL (เรตติ้ง Outperform ด้วยราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 210 บาท) และ KTB (เรตติ้ง Outperform ด้วยราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 25 บาท) เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร เพราะ 1. NIM จะขยายตัวมากที่สุด เนื่องจากจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, 2. ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ และ 3. Valuation น่าสนใจ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การขยายสินเชื่อได้ช้ากว่าคาดเนื่องจากความต้องการสินเชื่อชะลอตัวและการแข่งขันสูง และผลกระทบจาก FinTech