×

BBL ปรับเป้าปี 2563 ภาพรวมยังแข็งแกร่ง คาดผลกระทบโควิด-19 น้อยสุดในกลุ่มแบงก์

โดย SCB WEALTH
05.08.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวานนี้ (4 สิงหาคม) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้เปิดเผยรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางการเงินปี 2563 ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  1. ปรับการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ถึง 2.0 หมื่นล้านบาท (ไม่รวม Permata) สู่ 2.8 หมื่นล้านบาท (รวม Permata) เทียบกับ 1.8 หมื่นล้านบาท ใน 1H63 สะท้อนถึงการตั้งสำรองในครึ่งปีหลัง 2563 ลดลงจากครึ่งปีแรก หลังจากเร่งตั้งสำรองในครึ่งปีแรก 2563

 

  1. อัตราส่วน NPL ตั้งเป้าไว้ที่ 4 ถึง 4.5% (รวม Permata) เทียบกับ 4.1% ณ ไตรมาส 2/63 โดย BBL ระบุว่า มีเงินให้สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ไม่สูงมาก และธนาคารได้ติดต่อลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน ซึ่งจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ สำหรับ NPL ที่เพิ่มขึ้น 2.3 หมื่นล้านบาท QoQ ในไตรมาส 2/63 เกิดจากการควบรวมกับ Permata (1.1-1.2 หมื่นล้านบาท) และการไหลกลับมาเป็น NPL ของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างแล้ว และการจัดชั้นเชิงคุณภาพ

 

  1. การเติบโตของสินเชื่อจากกิจการของธนาคารเองปรับเป้าเพิ่มขึ้นจาก 3-4% สู่ระดับ 4-6% หากรวม Permata การเติบโตจะอยู่ที่ 16-18%

 

  1. คงเป้าหมาย Net Interest Margin (NIM) ที่ประมาณ 2.2% ซึ่งรวม Permata แล้ว

 

  1. ปรับเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง 15% จากเดิมคาดหดตัว 2% โดย BBL ระบุว่า Permata จะไม่ช่วยให้รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมากนัก และคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะลดลงในทุกๆ ด้าน เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อจากรายได้ค่าธรรมเป็นรายได้ดอกเบี้ยตามมาตรฐานบัญชี TFRS9

 

  1. อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ BBL คงเป้าหมายไว้ที่ 40% ปลายๆ โดย Permata มีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้สูงที่ประมาณ 60% ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ของ BBL ปรับเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง 2563 และปี 2564

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (5 สิงหาคม) ราคาหุ้น BBL เพิ่มขึ้น 2.0%DoD สู่ระดับ 102.00 บาท ตามทิศทางตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับตัวขึ้น 6.54 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.49%DoD สู่ระดับ 1,337.35 จุด ขานรับสหรัฐฯ ใกล้บรรลุข้อตกลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่า การปรับเป้าหมายทางการเงินใหม่ของ BBL ครั้งนี้จะเป็น Downside ต่อประมาณการกำไร เนื่องจากมีการปรับเป้าการตั้งสำรองขึ้น และปรับประมาณการการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมลงเป็นหดตัว 15% เดิมคาดหดตัวราว 2% ด้วยเหตุนี้ทำให้ SCBS ปรับประมาณการกำไรปี 2563 ของ BBL ลงสู่ 2.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท

 

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL ยังคงแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มธนาคาร ทั้งในแง่ของ LLR Coverage ที่อยู่ในระดับสูงกว่าระดับ 150% ขณะที่อัตราส่วน NPL ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ 

 

นอกจากนี้ BBL ยังมีสัดส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่ำ จึงทำให้ SCBS คาดว่า BBL จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด

 

ในระยะถัดไปต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงติดตามทิศทาง NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่หดตัว

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดว่าภาพรวมผลประกอบการของ BBL จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะ U-Shape เนื่องจากคาดว่าการตั้งสำรองยังคงสูงต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อซึมซับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันหลักต่อกำไรในปี 2564 

 

สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะเริ่มตั้งสำรองลดลง แต่ผลประกอบการจะยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับปกติ เนื่องจาก NIM จะลดลงอย่างมาก เพราะเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูจะเพิ่มขึ้น 23 bps กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ทั้งนี้ SCBS คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการสู่ระดับปกติในปี 2566 เนื่องจากการตั้งสำรองจะลดลงอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising