เกิดอะไรขึ้น:
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สินเชื่อของกลุ่มธนาคารขยายตัวตามฤดูกาล 0.4%MoM (เทียบกับ -0.2%MoM ในเดือนมกราคม) โดยมีทิศทางที่คละเคล้ากันในแต่ละธนาคาร KBANK, KTB, SCB และ KKP มีการเติบโตของสินเชื่อที่ดีในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่ง SCBS เชื่อว่าส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อที่เกี่ยวกับภาครัฐ (สำหรับ KTB) สินเชื่อของธนาคารอื่นๆ ค่อนข้างทรงตัว หรือหดตัวลงเล็กน้อย
ทั้งนี้เมื่อเทียบ YoY พบว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโตปานกลางที่ 6.1% ขณะที่ YTD พบว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโตเพียง 0.1% โดย KKP เป็นธนาคารที่รายงานการเติบโตของสินเชื่อแข็งแกร่งที่สุดในทุกรูปแบบของการเปรียบเทียบ (MoM, YoY และ YTD) สอดคล้องกับการเป็นธนาคารที่ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อปี 2565 สูงที่สุดในกลุ่มที่ 12%
นอกจากนี้ SCBS เล็งเห็นความเสี่ยง Downside ต่อคุณภาพสินทรัพย์จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะสร้างความเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์สำหรับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถส่งผ่านค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำหรับผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ธนาคารใช้นโยบายปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะเดียวกันจะกระตุ้นให้ความต้องการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด
ซึ่งหาก ธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ใน 4Q65 จะสร้างความเสี่ยง Upside เล็กน้อย (2-4 bps) ต่อ NIM ของธนาคารขนาดใหญ่ แต่จะสร้างความเสี่ยง Downside เล็กน้อย (2-4 bps) ต่อ NIM ของธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเน้นปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ (สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต) สะท้อนถึงความเสี่ยง Upside/Downside 1-2% ต่อประมาณการกำไรปี 2565
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับลดลง 4.9%MoM โดย
ราคาหุ้น TCAP ปรับเพิ่มขึ้น 1.8%MoM สู่ระดับ 41.75 บาท
ราคาหุ้น TISCO ปรับเพิ่มขึ้น 1.0%MoM สู่ระดับ 99.25 บาท
ราคาหุ้น BAY ปรับลดลง 2.1%MoM อยู่ที่ระดับ 34.75 บาท
ราคาหุ้น KKP ปรับลดลง 2.2%MoM อยู่ที่ระดับ 67.25 บาท
ราคาหุ้น KTB ปรับลดลง 3.6%MoM อยู่ที่ระดับ 13.50 บาท
ราคาหุ้น BBL ปรับลดลง 3.9%MoM อยู่ที่ระดับ 135.00 บาท
ราคาหุ้น KBANK ปรับลดลง 3.9%MoM อยู่ที่ระดับ 158.50 บาท
ราคาหุ้น TTB ปรับลดลง 5.1%MoM อยู่ที่ระดับ 1.31 บาท
แนวโน้มผลประกอบการ 1Q65 และปี 2565:
SCBS คาดการณ์แนวโน้ม 1Q65 ในเบื้องต้นว่า กำไรของกลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวเล็กน้อยทั้ง YoY และ QoQ เมื่อเทียบ YoY โดยคาดว่า Credit Cost จะอยู่ในระดับทรงตัว สินเชื่อจะเติบโตปานกลาง NIM จะอยู่ในระดับทรงตัว และ Non-NII จะลดลง ในขณะที่เมื่อเทียบ QoQ คาดว่า Credit Cost จะลดลงเล็กน้อย สินเชื่อจะเติบโตเล็กน้อย NIM จะอยู่ในระดับทรงตัว และ OPEX จะลดลงตามฤดูกาล
หากตัดกำไรจากการขายหุ้น TIDLOR ของ BAY ออกไป คาดว่ากำไรจะฟื้นตัว 17% ในปี 2565 เทียบกับ 21% ในปี 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจาก Credit Cost ที่ลดลง การเติบโตของสินเชื่อที่ 5% NIM ที่ลดลงเล็กน้อย (จากการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จในระยะยาว) Non-NII ที่เติบโตเล็กน้อย และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลง
ส่วนด้าน Valuation ของราคาหุ้นไม่แพง ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลง 9% นับตั้งแต่ทำจุดสูงสุดในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่มี Valuation ไม่แพง โดยเทรดที่ระดับ PBV ระดับ -1SD ถึง -2SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยเลือกหุ้นเด่นสำหรับกลุ่ม คือ BBL (มีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำที่สุดและเป็นหุ้น Laggard Play) และ KBANK (ผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและสินเชื่อเติบโตโดดเด่น)