เกิดอะไรขึ้น:
ในเดือนสิงหาคม สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโต 0.3%MoM, 5.3%YoY และ 2.9%YTD (เทียบกับประมาณการปี 2565 ที่ 5.5%) การเติบโตของสินเชื่อ MoM หลักๆ ได้แรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ซึ่งทิศทางการเติบโตของสินเชื่อเดือนนี้ในกลุ่มธนาคารคละเคล้ากัน
โดย BBL, KKP และ TISCO มีการเติบโตของสินเชื่อ MoM แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ ในขณะที่ KTB, KBANK และ SCB พบสินเชื่อหดตัวลง MoM ซึ่งเชื่อว่าการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งของ BBL ส่วนหนึ่งเกิดจากสินเชื่อกิจการต่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- 9 หุ้น จ่ายเงินปันผลสูงมากกว่า 5% ตลอด 5 ปี แถมราคาตั้งแต่ต้นปียังบวก
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65
สำหรับ KTB การหดตัว MoM ของสินเชื่ออาจเกิดจากการชำระคืนสินเชื่อที่เกี่ยวกับภาครัฐ ประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2565 ที่คาดการณ์ไว้สำหรับ BBL (6% เทียบกับ 7.1%YTD) TISCO (3% เทียบกับ 3.7%YTD) และ KKP (16% เทียบกับ 14.3%YTD) มี Upside เพิ่มเติม
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับเพิ่มขึ้น 1.59%MoM ขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.32%MoM
แนวโน้มผลประกอบการในปี 2565:
InnovestX Research คาดว่าธนาคารทุกแห่งจะรายงานกำไรฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องใน 2H65 โดยได้แรงหนุนจากการตั้งสำรองลดลงและ NIM ที่ดีขึ้น ขณะที่เมื่อเทียบ HoH คาดว่ากำไร 2H65 จะอยู่ในระดับทรงตัวสำหรับ SCB, KBANK, BAY และ TISCO จะลดลงสำหรับ KTB, TTB และ KKP จากการตั้งสำรองเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังเป็นหลัก
และเพิ่มขึ้นสำหรับ BBL จากการตั้งสำรองเพิ่มในช่วงครึ่งปีแรกเป็นหลัก NII น่าจะเพิ่มขึ้นใน 2H65 โดยเกิดจากการเติบโตของสินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นตามฤดูกาลและ NIM ที่ดีขึ้นเพราะได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับขึ้น
ส่วนกำไรปี 2565 ของกลุ่มธนาคารคาดจะฟื้นตัว 13% (17% หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น TIDLOR ของ BAY) เทียบกับ 26% (21% หากไม่รวมกำไรจากการขายหุ้น TIDLOR ของ BAY) ในปี 2564 โดยได้แรงหนุนจาก Credit Cost ที่ลดลง พร้อมกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยที่ปัญหานี้จะบรรเทาลงได้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ
สินเชื่อที่เติบโต 5.5% (มีแนวโน้ม Upside) NIM ที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย (การมีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้นและประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) Non-NII ที่ลดลง (กำไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียวลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมค่อนข้างทรงตัว) และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในระดับทรงตัว
สำหรับความเสี่ยง Upside/Downside: NIM มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นใน 2H65 จากอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับขึ้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ทั้งนี้ใน 2H65 จะใช้สมมติฐานว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 75 bps อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR, MOR, MRR) จะปรับขึ้น 25 bps อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำจะปรับขึ้น 50 bps
ส่วนในปี 2566 ใช้สมมติฐานว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 75 bps อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR, MOR, MRR) จะปรับขึ้น 25 bps อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำจะปรับขึ้น 50 bps และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ InnovestX Research เล็งเห็น Upside ต่อประมาณการกำไรปี 2565 สำหรับ KTB, TTB และ KKP จากแนวโน้มการตั้งสำรองต่ำกว่าคาด เนื่องจาก Credit Cost ใน 1H65 ของธนาคารเหล่านี้ต่ำกว่าคาดและเป้าหมายเต็มปี ในขณะเดียวกัน เล็งเห็น Downside ต่อประมาณการกำไรปี 2565 จากการตั้งสำรองสำหรับ KBANK โดยมีสาเหตุมาจาก NPL ที่ไหลเข้าเร่งตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหุ้นธนาคารมี Valuation ไม่แพง (-2SD PBV และ -1SD PE) โดยกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องพร้อมกับ Upside ต่อ NIM ดังนั้น InnovestX Research เลือก KTB, BBL และ KBANK เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร เพราะ 1. มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และ 2. Valuation น่าสนใจ