เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) คาดการณ์ว่าแนวโน้มผลประกอบการ 2Q64 จะเติบโตต่อเนื่อง QoQ โดยได้แรงหนุนจากรายได้ที่ดีขึ้น โดยคงเป้าหมายการจัดเก็บเงินสดทั้งปี 2564 มากกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 4.2 พันล้านบาทใน 2Q64, 4.24 พันล้านบาทใน 3Q64 และ 6.04 พันล้านบาทใน 4Q64 รวมถึง BAM ยังตั้งงบซื้อสินทรัพย์มากกว่า 9 พันล้านบาท
นอกจากนี้ BAM ยังได้มุ่งเน้นทำการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยให้กับลูกค้าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยการร่วมมือกับ Shopee ในการนำ NPA ไปโพสต์ขาย และร่วมมือกับสหกรณ์ประมูลในการนำอสังหาริมทรัพย์กว่า 250 รายการ มาประมูลผ่านระบบออนไลน์
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BAM ปรับตัวลง 7.5%MoM สู่ระดับ 18.50 บาท เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 1.8%MoM สู่ระดับ 1,612.88 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2564)
มุมมองระยะสั้น:
หากอิงกับเป้าหมายเรียกการจัดเก็บเงินสดรายไตรมาสของ BAM ทำให้ SCBS คาดกำไรสุทธิ 2Q64 ของ BAM อยู่ที่ 380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180%YoY และ 54%QoQ ขณะที่กำไรตลอดทั้งปี 2564 ของ BAM ทาง SCBS คาดไว้ที่ระดับ 2.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 47%YoY
โดย BAM ใช้กลยุทธ์สำหรับการเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสด สำหรับ NPL คือการคัดเลือกพอร์ต NPL ที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกันออกมาขายมากขึ้น สนับสนุนการประนอบหนี้เป็นพิเศษ เพิ่มฐานลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้มีกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง และเร่งกระบวนการขายทอดตลาดผ่านการประมูล
ขณะที่กลยุทธ์ในการเรียกเก็บเงินสดสำหรับ NPA คือเน้นกลยุทธ์ด้านราคากับ NPA ที่คัดเลือกมากว่า 3,000 รายการ ซึ่งกว่า 2,000 รายการได้รับอนุมัติแล้ว ณ 1Q64 โดยใช้แคมเปญการตลาดมากขึ้น รวมถึงเพิ่มฐานลูกค้าที่ซื้อแบบผ่อนชำระกับ BAM ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ส่งผลทำให้ BAM มีผลเรียกเก็บเงินสดจำนวน 15 ล้านบาทต่อเดือน ตลอดจนตั้งงบจำนวน 226 ล้านบาท เพื่อปรับปรุง NPA สำหรับการขาย
มุมมองระยะยาว:
ในระยะ 5 ปีข้างหน้า BAM ยังคงเป้าหมายผลเรียกเก็บเงินสดสำหรับปี 2564-2568 ไว้ในเชิงบวก โดยคาดว่าผลเรียกเก็บเงินสดทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 1.31 หมื่นล้านบาทในปี 2563 สู่ 1.75 หมื่นล้านบาทในปี 2564, 1.895 หมื่นล้านบาทในปี 2565, 2.051 หมื่นล้านบาทในปี 2566, 2.22 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และ 2.404 หมื่นล้านบาทในปี 2568
โดยบริษัทวางแผนเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดจากการบริหาร NPL จาก 8.4 พันล้านบาทในปี 2563 สู่ 1.045 หมื่นล้านบาทในปี 2564, 1.122 หมื่นล้านบาทในปี 2565, 1.198 หมื่นล้านบาทในปี 2566, 1.279 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และ 1.366 หมื่นล้านบาทในปี 2568 บริษัทวางแผนเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสดจากการบริหาร NPA จาก 4.74 พันล้านบาทในปี 2563 สู่ 7 พันล้านบาทในปี 2564, 7.74 พันล้านบาทในปี 2565, 8.53 พันล้านบาทในปี 2566, 9.41 พันล้านบาทในปี 2567 และ 1.037 หมื่นล้านบาทในปี 2568