×

AOT ขยายเวลาช่วยเหลือแก่สายการบินและผู้ประกอบการอีก 1 ปี สร้างแรงกดดันต่อผลประกอบการปี FY2565 และ FY2566

โดย SCB WEALTH
02.12.2021
  • LOADING...
AOT

เกิดอะไรขึ้น:

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้ประกาศขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์ออกไปอีก 1 ปี (จากเดิมจะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุด 31 มีนาคม 2566) ซึ่งประกอบด้วยการปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) การปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน/รายปี และการยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยเก็บเฉพาะส่วนแบ่งรายได้

 

สำหรับสัมปทานใหม่คือการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty-Free) และพื้นที่ค้าปลีกที่มอบให้กับ King Power Group นั้น AOT จะเริ่มเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสารในวันที่ 1 เมษายน 2566 (ขยายระยะเวลาจากเดิมที่จะเริ่มเก็บวันที่ 1 เมษายน 2565)

 

เหตุผลที่ AOT ขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือเป็นเพราะการเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวช้ากว่าคาด อันเป็นผลมาจากการระบาดรุนแรงของโควิด และบริษัทจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานของ AOT รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้

 

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ AOT เปิดเผยว่า การตัดสินใจไม่ขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือจะทำให้มีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาวะแวดล้อมอุตสาหกรรมที่ไม่เอื้ออำนวย อาจกดดันให้ผู้ประกอบการต้องบอกเลิกสัญญา และ AOT คาดว่าจะใช้เวลา 10 ปีในการหาผู้ประกอบการเข้ามาให้เต็มพื้นที่

 

กระทบอย่างไร:

นับตั้งแต่วันที่ AOT ประกาศขยายมาตรการช่วยเหลือฯ ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลดลง 10.9% สู่ระดับ 59.50 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2564)

 

มุมมองระยะสั้น:

การขยายเวลามาตรการให้ความช่วยเหลืออีก 1 ปีครั้งนี้ของ AOT ทำให้ SCBS ปรับประมาณการผลประกอบการในปี FY2565 ลง 6% และปี FY2566 ลง 15% เพื่อสะท้อนรายได้ลดลง นอกจากนี้ทิศทางผลประกอบการยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกเริ่มกลับมาประกาศใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ

 

สำหรับทิศทางผลประกอบการของ AOT ใน 1QFY65 (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) SCBS คาดว่าจะมีผลขาดทุนลดลง QoQ (แต่จะอยู่ในระดับทรงตัว YoY) โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของผู้โดยสารภายในประเทศ และจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS มองว่าปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการในปี FY2565 คือการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและโครงการเชิงพาณิชย์ โดย AOT จะมีการประกาศใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพในปี FY2565 หลังจากแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุเสร็จใน 1QFY65

 

โดยการแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างเสถียรภาพให้กับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุด้วยการขยายระยะเวลาการใช้ประโยชน์เป็น 30 ปี (เพิ่มขึ้นจาก 11 ปี) ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินให้กับ AOT ในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X