เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้ขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด รวมทั้งพื้นที่ปฏิบัติงานบางส่วนของส่วนราชการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารและเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้โดยสาร เช่น เพิ่มพื้นที่ทำงานร่วม (Co-working Space) และโซนสำหรับเด็ก (Kids Zone) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
AOT มองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญเพื่อปรับปรุงคุณภาพท่าอากาศยานและการท่องเที่ยวของไทย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับการจัดอันดับไปสู่ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายในปี 2568 และจะไปสู่อันดับ 1 ใน 20 ภายใน 5 ปีนับจากนี้ จากอันดับที่ 58 ในปี 2567
อ้างอิงข้อมูลจาก AOT การขอคืนพื้นที่ประกอบการเชิงพาณิชย์จะส่งผลกระทบทำให้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสารของสัมปทาน Duty Free ลดลง 7.5% ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 19% ที่ท่าอากาศยานภูมิภาค (ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่) AOT ประเมินว่ารายได้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะลดลง 74 ล้านบาทต่อเดือน และที่ท่าอากาศยานภูเก็ตจะลดลง 19 ล้านบาทต่อเดือน และรายได้ค่าเช่าพื้นที่จะลดลง 1 ล้านบาทต่อเดือน รวมเป็นเงินทั้งหมด 1,100 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาผลกระทบแบบเต็มปี AOT คาดว่าผลกระทบจะลดลงในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากจะมีรายได้เพิ่มเติมจากกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ เช่น โครงการ Airport City (คาดในปี FY2568) และการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง (คาดในปี FY2573) และ AOT เชื่อว่าคุณภาพท่าอากาศยานที่ดีขึ้นจะดึงดูดให้ผู้โดยสารเข้ามาที่ท่าอากาศยานของบริษัทมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการบินและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินของบริษัท AOT เปิดเผยว่าการขอคืนพื้นที่ประกอบการเชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งข้างต้นเพียงพอแล้ว และไม่มีความจำเป็นต้องขอคืนพื้นที่จากท่าอากาศยานอื่นรวมถึงท่าอากาศยานดอนเมือง
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับลง 3.31% สู่ 58.50 บาทต่อหุ้น ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 3.31% สู่ 1,316.73 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี FY2567:
InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปกติของ AOT ลดลง 1% ในปี FY2567 (เนื่องจากการขอคืนพื้นที่ประกอบการเชิงพาณิชย์จะมีผลใน 4QFY67) และ 4% ในปี FY2568 เป็นต้นไป ส่งผลทำให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF ปรับลดลง 2 บาทต่อหุ้น สู่ 78 บาทต่อหุ้น (WACC ที่ 7.6% และการเติบโตระยะยาวที่ 2%) แต่ยังคงคำแนะนำ Outperform หลังจากราคาหุ้นปรับตัวลดลง 3% เมื่อวานนี้ (25 มิถุนายน) บ่งชี้ว่าประเด็นลบสะท้อนในราคาหุ้นแล้ว และกำไรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เติบโตมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังคงมุมมองว่ากำไรปกติของ AOT มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 23,000 ล้านบาท ในปี FY2567 (เพิ่มขึ้น 150%YoY) และ 28,000 ล้านบาท ในปี FY2568 (เพิ่มขึ้น 23%YoY) ระยะสั้นคาดว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและกำไรปกติใน 3QFY67 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2567) ของ AOT จะเติบโต YoY แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการเดินทางลดลง ความเสี่ยงประเด็นสำคัญด้าน ESG คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และประเด็นด้านสังคม เช่น ความปลอดภัย (S)