เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (28 ตุลาคม) รมว.คมนาคมได้ประชุมหารือกับ AOT เพื่อส่งมอบแผนงานพัฒนา 6 สนามบิน 6 ประกอบด้วย สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารกว่า 180 ล้านคนต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 150 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ 30 ล้านคน
ทั้งนี้ สนามบินทั้ง 6 แห่ง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 101 ล้านคนต่อปี แต่มีผู้โดยสารจริงถึง 141.87 ล้านคนต่อปี โดยมีสนามบิน 5 แห่ง ที่ให้บริการเกินขีดความสามารถแล้ว ได้แก่ สุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารจริง 64.71 ล้านคนต่อปี แต่รองรับได้เพียง 45 ล้านคนต่อปี, ดอนเมือง มีผู้โดยสารจริง 41.01 ล้านคนต่อปี แต่รองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี, เชียงใหม่ มีผู้โดยสารจริง 11.32 ล้านคนต่อปี แต่รับรองได้เพียง 8 ล้านคนต่อปี, ภูเก็ต มีผู้โดยสารจริง 17.85 ล้านคนต่อปี แต่รองรับได้เพียง 12.5 ล้านคนต่อปี และหาดใหญ่ มีผู้โดยสารจริง 4.03 ล้านคน แต่รองรับได้ 2.5 ล้านคนต่อปี ขณะที่สนามบินเชียงรายมีจำนวนผู้โดยสารเกือบถึงระดับขีดความสามารถแล้ว โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารจริง 2.95 ล้านคนต่อปี แต่รองรับได้ 3 ล้านคนต่อปี
สำหรับโครงการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมินั้น AOT คาดจะได้ข้อสรุปเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะส่งต่อให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อ โดยให้สภาพัฒน์ฯ พิจารณา พร้อมจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) หากได้รับความเห็นชอบจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ รมว.คมนาคมยังสั่งให้ AOT ปรับลดค่าธรรมเนียมขึ้น-ลง และจอดอากาศยานลง 50% สำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำทั้ง 6 สนามบิน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง High Season พร้อมทั้งมอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะทำงานศึกษายอดจองตารางบินของแต่ละสายการบิน หากจองหรือกำหนดเวลาแล้วแต่ไม่ทำการบินจริงเกิน 20% ของเที่ยวบินที่ขอ จะยกเลิกทันที
อีกทั้งยังมอบหมายให้ AOT ทำงานร่วมกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จัดแพ็กเกจกระตุ้นให้เครื่องบินเช่าเหมาลำมาใช้บริการสนามบินเมืองรองทั้ง 22 แห่งมากขึ้น พร้อมมีบริการรถรับส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดปี 2563
ส่วนแผนโอน 4 สนามบิน (อุดรธานี, กระบี่, แม่สอด, บุรีรัมย์) ของ ทย. ให้แก่ AOT ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ AOT (วิธีนี้ ทย. ไม่ยินยอมโอนสนามบินกระบี่ให้) หรือใช้วิธีจ้าง AOT บริหารให้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (29 ตุลาคม) ราคาหุ้น AOT ตอบรับเชิงบวก โดยช่วงเช้าราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 78.75 บาท จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 77.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.61% DoD และเป็นระดับราคาสูงสุดใหม่ (New High) นับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินว่า แผนการพัฒนาสนามบินดังกล่าวจะสร้าง Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อราคาหุ้น AOT นอกเหนือไปจากจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนผู้ที่ใช้บริการสนามบินที่ฟื้นตัวขึ้น
อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาสนามบินข้างต้นยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาหลังจากนี้ ขณะที่ประเด็นหนุนในระยะสั้นคือ สัญญาสัมปทานใหม่ในการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งอยู่ในระหว่างการขายเอกสารการยื่นข้อเสนอ (TOR) และจะประกาศผู้ชนะการประมูลในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 (ระยะเวลาสัมปทานครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2576) และสัมปทานเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick-Up Counter) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 (ระยะเวลาสัมปทานครอบคลุมตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – มีนาคม 2574)
สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ประมูล หากจำนวนผู้ประมูลมีมาก จะสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งน่าจะช่วยหนุนรายได้ของ AOT ให้เพิ่มมากขึ้น
มุมมองระยะยาว:
การพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่ง รวมถึงการโอน 4 สนามบินภูมิภาค ถือเป็นแผนงานที่ต้องใช้ระยะเวลา จากนี้จึงต้องติดตามความคืบหน้าและข้อสรุปการหารือกันระหว่าง AOT กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการพิจารณาเห็นของ ครม.
ทั้งนี้ SCBS มองว่า การพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่ง จะช่วยลดความแออัดและเพิ่มขีดความสามารถได้อย่างมีนัยสำคัญในการรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่การโอน 4 สนามบินภูมิภาค จะช่วยเพิ่มฐานผู้ใช้บริการให้มากขึ้น โดยรวมจะช่วยต่อยอดรายได้และกำไรให้กับ AOT ได้อย่างมีเสถียรภาพในอนาคต
ข้อมูลพื้นฐาน:
บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ดำเนินธุรกิจให้บริการท่าอากาศยานในประเทศไทย 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดย AOT มีรายได้มาจากค่าบริการขึ้น-ลงของอากาศยาน ค่าบริการจอดอากาศยาน ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวกในการบิน นอกจากนี้ AOT ยังมีรายที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการบินประกอบด้วย ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร, ค่าเช่าที่ดิน, รายได้เกี่ยวกับการบริการ และรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์จากร้านค้าในอาคารผู้โดยสาร
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคม มีภารกิจส่งเสริมพัฒนาโครงข่ายและส่งเสริมกิจการท่าอากาศยานและท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมีอำนาจหน้าที่ ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้การมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ดำเนินกิจการท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ และปฏิบัติการอื่นๆ ตามกฎหมายที่เป็นหน้าที่ของกรมหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล