เกิดอะไรขึ้น:
ใน 1H67 AMATA ทำยอดขายที่ดินได้ 1,060 ไร่ และจากจุดเด่นของประเทศไทยที่มีความพร้อมในการรองรับการย้ายฐานการผลิต อุปสงค์ที่เข้ามาทั้งในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง ทำให้ AMATA มั่นใจเป้าการขายที่ดินในปีนี้ที่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ และ AMATA วางแผนใช้งบลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาทเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มในปีนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในอนาคต
AMATA มี Backlog ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ 16,939 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท โดยเป็นยอดที่มาจากประเทศไทย 89% ซึ่งหลังจากที่มีความล่าช้าเรื่องเอกสารและใบอนุญาต ทำให้ช่วง 1H67 การโอนทำได้ล่าช้า
โดยคาดว่าการโอนจะเริ่มมีอัตราเร่งมากขึ้นใน 2H67 และจะโอนได้มากกว่า 1H67 และส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบไปถึงสิ้นปี 2568 และอาจมีบางส่วนต่อเนื่องถึงปี 2569 ขณะที่อีก 11% เป็นยอด Backlog ที่มาจากเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบได้ในช่วง 1H68
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AMATA ปรับขึ้น 6.0% สู่ระดับ 24.90 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 9.8% สู่ระดับ 1,424.39 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
InnovestX Research ปรับประมาณการปี 2567 เพิ่มขึ้น สะท้อนการบันทึกรายได้จาก Backlog ที่มากขึ้นใน 2H67 โดยคาดรายได้ของปี 2567 ที่ 13,079 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 37%) มากกว่าคาดเดิม 19% เนื่องจากคาดว่าใน 2H67 AMATA จะมีปัจจัยหนุนหลักจากการบันทึกรายได้ของ Backlog ประมาณ 4.5-5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามมีการปรับประมาณการอัตราการทำกำไรขั้นต้นลงจาก 40.8% เป็น 38.2% จากต้นทุนที่ดินใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลประมาณการกำไรสุทธิใหม่เท่ากับ 2,399 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 27.3%YoY) เพิ่มจากเดิม 7% และคาดผลประกอบการ 3Q67F จะเติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ
กลยุทธ์การลงทุน InnovestX Research ให้ราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ฐาน PER ที่ 18 เท่า ซึ่งเท่ากับ PE เฉลี่ยในรอบ 6 ปีของ AMATA ได้ราคาเป้าหมาย 30.00 บาทต่อหุ้น โดยคงคำแนะนำ ‘ซื้อ’
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัจจัยไม่แน่นอนกดดัน ต้นทุนพลังงานที่ผันผวน และติดตามโอกาสและความเสี่ยงของการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำและราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น
ความเสี่ยงด้าน ESG: AMATA ได้จัดอยู่ในระดับ AAA ของ SET ESG Ratings ในปี 2566 โดย AMATA เน้นด้านสิ่งแวดล้อมและการลดคาร์บอน รวมถึงการ Reuse พลังงานในพื้นที่ทุกนิคมของ AMATA ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ การบริหารจัดการพลังงานทั้งในพื้นที่นิคมฯ และส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภค