เกิดอะไรขึ้น:
เย็นวานนี้ (29 มกราคม) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่าบริษัทได้รับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้บริษัทจ่ายเงินชดเชย 31,076 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน (ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558) แก่ บมจ.ทีโอที (TOT)
โดย ADVANC ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดดังกล่าว และเห็นว่าเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบริษัทจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว เนื่องจากข้อพิพาทดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด โดยผลของคำชี้ขาดนี้จะยังคงไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของ ADVANC
กระทบอย่างไร:
เช้าวันนี้ (30 มกราคม) ราคาหุ้น ADVANC ปรับลดลงทันทีหลังจากเปิดการซื้อขายช่วงเช้า โดยราคาหุ้นลดลงอยู่ที่ระดับ 204 บาท ลดลง 4.67% DoD พร้อมด้วยแรงขายที่หนาแน่น
มุมมองระยะสั้น:
SCBS แนะนำว่าผู้ลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกกับประเด็นนี้จนเกินไป เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเพียงแค่เซนทิเมนต์เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น
โดย SCBS คาดว่าคดีนี้ใช้เวลาหลายปีจึงจะได้ข้อสรุป เนื่องจาก ADVANC สามารถดำเนินตามขั้นตอนของศาลปกครองได้ต่อไป ขณะที่ ADVANC เองยังไม่มีการตั้งสำรองหรือการประมาณการหนี้สินจากการถูกฟ้องคดีใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในระยะสั้นนี้คือการเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ซึ่งตามกำหนดการจะมีการยื่นซองประมูลวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 และจะเคาะราคาประมูลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
ทั้งนี้ต้องจับตาด้วยว่า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้หรือไม่ หาก DTAC ไม่เข้าร่วมประมูลจะทำให้ตลาดคลายความกังวลด้านการแข่งขันในการประมูลครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารในระยะสั้น
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาว ผู้ประกอบการโทรคมนาคมยังเผชิญกับความท้าทายหลังจากการประมูลคลื่น 5G โดยสิ่งที่ตลาดกำลังกังวลคือผู้ประกอบการจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาโครงข่าย 5G ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และทำให้จุดคุ้มทุนของผู้ให้บริการใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งอาจส่งผลต่อผลการดำเนินงานในระยะยาวต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
รายละเอียดข้อพิพาทระหว่าง ADVANC และ TOT
ADVANC และ TOT ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ตามลำดับ โดย TOT ได้เรียกร้องให้ ADVANC ชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 จำนวน 62,774 ล้านบาท โดยกล่าวอ้างว่าการทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 กรณีการลดส่วนแบ่งรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน และครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 กรณีการหักค่าใช้จ่ายการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) เป็นการแก้ไขสัญญาในสาระสำคัญทำให้ TOT ได้ผลประโยชน์ตอบแทนต่ำกว่าที่กำหนดในสัญญาหลัก
กระบวนการอนุญาโตตุลาการคือการระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่คู่กรณีจะเป็นผู้เลือกผู้ตัดสิน (อนุญาโตตุลาการ) มาชี้ขาดข้อพิพาท และคู่กรณีตกลงที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น
เนื่องจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ประกอบกับคู่กรณีสามารถเลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาท ซึ่งส่งผลให้การระงับข้อพิพาทดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย (อ้างอิง: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)
หมายเหตุ:
% DoD คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า