เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 24 ธํนวาคม 2562 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า บอร์ด กสทช. เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz รวมทั้งอีก 2 ร่างประกาศที่เกี่ยวข้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และนำไปสู่การประมูลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
ทั้งนี้บอร์ด กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นำ 4 คลื่นความถี่มาประมูลในวันเดียวกัน โดยรูปแบบการเคาะราคาเปลี่ยนจากที่เป็นการประมูลแบบมัลติแบรนด์ เป็นการเคาะราคาประมูลทีละคลื่นความถี่ แต่ยังคงใช้การประมูลแบบ Clock Auction โดยเริ่มจากคลื่น 700 MHz ก่อน ตามด้วยคลื่น 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz โดยจะเปิดให้รับเอกสารการประมูลวันที่ 2 มกราคมถึง 3 กุมภาพันธ์ 2563 และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เปิดให้เอกชนยื่นเอกสารการประมูล จากนั้นวันที่ 5-12 กุมภาพันธ์ 2563 ตรวจสอบคุณสมบัติ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมการประมูลวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 โดยวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2563 จะทดลองวิธีการประมูล และจะเคาะราคาประมูลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
กระทบอย่างไร:
ภายหลังจากมีการเปิดเผยข่าวดังกล่าว ราคาหุ้นผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย ต่างตอบรับในเชิงลบเป็นเวลาติดต่อกัน 2 วันทำการ (วันที่ 24-25 ธันวาคม) โดยล่าสุดวันที่ 25 ธันวาคม 2562 ราคาหุ้น ADVANC ปิดที่ 215 บาท ลดลง 2.27% จากราคาปิดวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ 220 บาท, ราคาหุ้น DTAC ปิดที่ 53.25 บาท ลดลง 4.91% จากราคาปิดวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ 56.00 บาท และ TRUE ราคาหุ้นปิดที่ 4.62 บาท ลดลง 1.70% จากราคาปิดวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ 4.70 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าข่าวข้างต้นเป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้นต่อผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย เนื่องจากการที่ กสทช. ประกาศว่าจะนำคลื่น 700 MHz เข้ามาประมูลด้วย (จากก่อนหน้านี้ที่ตลาดคาด กสทช. จะไม่นำคลื่น 700 MHz เข้าร่วมประมูลในรอบนี้) อาจทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่า CAT จะเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ และอาจกลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ในอุตสาหกรรม
แต่อย่างไรก็ดี เรามองว่าโอกาสเกิดค่อนข้างน้อยด้วย 2 เหตุผล
1) จากการให้สัมภาษณ์ของ พ.อ. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CAT ที่เคยพูดว่าทาง CAT เองสนใจในคลื่น 700 MHz เนื่องจากการแข่งขันเรื่องการประมูลมีน้อยกว่าคลื่น 2600 MHz และ
2) เราเชื่อว่า CAT น่าจะดำเนินธุรกิจแข่งขันสู้กับผู้ประกอบการปัจจุบันทั้ง 3 รายไม่ได้ ในการจะเข้ามาเป็นผู้เล่นรายที่ 4 ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปสู่การเข้าประมูลแข่งคลื่น 2600 MHz เพราะฉะนั้นด้วยความสนใจของ CAT (700 MHz) และผู้ประกอบการปัจจุบันทั้ง 3 ราย (2600 MHz) ที่ไม่เหมือนกัน และการหารายได้เชิงพาณิชย์ของ 5G ที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้เราเชื่อว่าการแข่งขันประมูลคลื่นรอบนี้จะไม่รุนแรง และเรายังเชื่อว่า CAT จะนำคลื่น 700 MHz มาช่วยสนับสนุนโครงการภาครัฐมากกว่า เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าภาพรวมการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มุมมองระยะยาว:
ติดตามจุดยืนของ CAT หลังจากนี้จนถึงวันประมูล ซึ่งน่าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของราคาหุ้นกลุ่ม ICT นอกจากนี้คงต้องติดตามว่าผู้ประกอบการจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ตาม Roadmap ที่วางไว้ คือช่วงปี 2563 ได้หรือไม่ ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการพัฒนา 5G จะเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการฯ จนกว่าจะมีการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริง ขณะที่ต้นทุนพัฒนาโครงข่าย 5G ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ อาจทำให้จุดคุ้มทุนของผู้ให้บริการอาจใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานในระยะถัดไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์