เกิดอะไรขึ้น: บ่ายวานนี้ (5 ก.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ. ที่ให้ขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนเพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมดระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งจะไม่เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาการแพ้คดีต่างๆ ที่เป็นข้อพิพาทในอนาคต ด้วยคะแนนเห็นด้วย 412 เสียง ไม่เห็นด้วย 25 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้สภาผู้แทนราษฎรจะส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
กระทบอย่างไร: เมื่อวานนี้ BEM ราคาหุ้นปิดที่ 11.40 บาท ปรับขึ้น 1.8% DoD และระหว่างวันยังทำจุดสูงสุดที่ 11.60 บาท หลังมีข่าวสภาฯ ลงมติเห็นด้วยให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วน ส่วนวันนี้ราคาหุ้นเปิดกระโดดไปที่ 11.60 บาทอีกครั้ง ก่อนที่จะย่อตัวมาซื้อขายบริเวณ 11.40-11.50 บาท
มุมมองระยะสั้น: การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นด้วยกับการขยายสัมปทานทางด่วนถือเป็นประเด็นบวกที่ช่วยปลดล็อกข้อพิพาทต่างๆ ที่กดดันราคาหุ้น BEM มาอย่างยาวนาน และคาดราคาหุ้นน่าจะขยับขึ้นต่อได้ในช่วงสั้นนี้
มุมมองระยะยาว: ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเกี่ยวกับแนวทางการขยายสัมปทานทางด่วน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ซึ่งยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุป คือ
1) ขยายสัมปทานทางด่วน 30 ปี โดย BEM ต้องลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck)
2) ขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี โดย BEM ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck)
โดยปัจจุบันตลาดมีความคาดหวังว่าข้อสรุปที่ออกมาจะเป็นการขยายสัมปทานทางด่วนในแนวทางที่ 1 (30 ปี) มากกว่าแนวทางที่ 2 (15 ปี) ดังนั้นจึงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า ข้อสรุปที่เกิดขึ้นจริงจะเป็นไปตามที่คาดหวังกันไว้หรือไม่
ข้อมูลพื้นฐาน: บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ดำเนินธุรกิจหลัก ดังนี้ 1) ผู้รับสัมปทานในการก่อสร้างและบริหารทางพิเศษ (รายได้ 53%) ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วน A B C (สิ้นสุดสัมปทานปี 2563) และ D (สิ้นสุดสัมปทานปี 2570) และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+สิ้นสุดสัมปทานปี 2569) 2) ผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชน (รายได้ 25%) ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และ 3) ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายใต้สัมปทานที่เกี่ยวข้องและอื่นๆ (รายได้ 22%)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์