เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (30 พฤษภาคม) โรงงานแปรรูปเนื้อไก่แห่งหนึ่งในอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปิดดำเนินการชั่วคราวเป็นเวลา 5 วัน จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน เพื่อทำความสะอาดพร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากพบว่าพนักงานติดเชื้อโควิด-19 รวม 391 คน หลังจากดำเนินการตรวจเชิงรุกพนักงานแล้วจำนวน 3,400 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 5,800 คน
โดย CPF กล่าวว่าจะดำเนินการตรวจคัดกรองพนักงานทุกคนที่โรงงานแปรรูปแก่งคอย และจะกักตัวผู้เสี่ยงสูงตามมาตรการควบคุมโรค บริษัทกล่าวว่าการผลิตที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่อีก 18 แห่งไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ออกมายืนยันกับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ไก่จากโรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีความปลอดภัย ไม่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 โดยนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแผนสุ่มตัวอย่างเนื้อสัตว์ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออก และจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามตลาดสด เพื่อสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ไปแล้ว 2,251 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างไม่พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (31 พฤษภาคม) ราคาหุ้น CPF ปรับลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 26.50 บาท ลดลง 2.7%DoD ก่อนที่จะปิดตลาดเที่ยงอยู่ที่ระดับ 27.00 ลดลง 0.92%DoD สวนทาง SET Index ที่ปิด 1,589.93 จุด เพิ่มขึ้น 7.95 จุด หรือปรับขึ้น 0.50%DoD (ข้อมูล ราคา ณ 12.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่ารายได้จากโรงงานแห่งนี้น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้รวมของ CPF (รายได้ 15% ของ CPF ได้มาจากธุรกิจไก่ในประเทศไทย) โดยการการปิดโรงงานแห่งนี้ชั่วคราวจะมีผลกระทบต่อรายได้จำกัด เนื่องจาก CPF สามารถใช้สินค้าคงคลังและจัดสรรกำลังการผลิตจากโรงงานแปรรูปเนื้อไก่อีก 18 แห่งผลิตมาช่วยสนับสนุนการผลิตได้
ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อเป็นพนักงานนอกสายการผลิต และไม่พบเชื้อในผลิตภัณฑ์ของ CPF ดังนั้นเหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบจำกัดต่อการบริโภคเนื้อไก่ นับถึงปัจจุบัน CPF ยังไม่พบผลกระทบใดๆ ต่อออร์เดอร์ส่งออก
มุมมองระยะยาว:
SCBS มองว่าประเด็นนี้เป็นเพียง Sentiment เชิงลบระยะสั้นต่อราคาหุ้น CPF แต่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดย SCBS คาดกำไรปี 2564 ของ CPF ที่ 2.54 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.3%YoY ถึงแม้อุปทานสุกรลดลงหลังจาก ASF ระบาด แต่ถูกกดดันจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนข้าวโพดในประเทศอยู่ที่ 9.3 บาทต่อกิโลกรัม จาก 9 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2563 และต้นทุนกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม จาก 14.6 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2563
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล