×

Mark Zuckerberg ขึ้นให้การสภายุโรป ถูกจี้ถาม อยากถูกจำในฐานะอัจฉริยะสร้างปีศาจบนโลกดิจิทัลจริงหรือ

23.05.2018
  • LOADING...

ราวกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ขึ้นให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ และสภาคองเกรส เพื่อตอบคำถามกรณีที่ Facebook มีส่วนทำให้ข้อมูลผู้ใช้กว่า 87 ล้านรายหลุดไปยัง Cambridge Analytica ตลอดจนข้อพิพาทอื่นๆ ที่สื่อสังคมออนไลน์เจ้านี้ถูกโจมตี

 

ผ่านมาเกือบ 1 เดือนเต็ม วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่นโซนยุโรป มาร์กก็ต้องขึ้นให้การอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาต้องเผชิญหน้ากับสมาชิกรัฐสภายุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อตอบข้อซักถามและอธิบายกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง Facebook และผู้ใช้ทั่วโลก ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณแค่ 1 ชั่วโมงกับอีก 20 นาทีเท่านั้น (ที่สหรัฐฯ เขาต้องพูดเกือบๆ 5 ชั่วโมง)

 

ประเด็นหลักๆ ที่มาร์กถูกจี้ถามคือการที่แพลตฟอร์มที่เขาได้สร้างขึ้นมาเป็นภัยก่อให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้เป็นจำนวนมหาศาล (Cambridge Analytica) และการไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่สะพัดของข่าวปลอม หรือ Fake News ได้ ซึ่งมาร์กได้ให้คำตอบคล้ายๆ กับตอนให้การกับสภาสหรัฐทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ว่าทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของตน และ Facebook ขอโทษสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

เขาเริ่มต้นด้วยการเปิดแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า “ขณะที่ Facebook ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้าถึงกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือเราไม่ได้ทำหน้าที่ได้ดีพอที่จะเลี่ยงไม่ให้เครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้ในทางที่ผิด ซึ่งนั่นทำให้เกิดข่าวปลอม การแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือกรณีที่นักพัฒนานำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในทางที่ผิด พวกเราไม่ได้มีมุมมองการรับผิดชอบที่กว้างมากพอ นั่นคือข้อผิดพลาดของเรา และผมต้องขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

 

เขายังบอกอีกด้วยว่าการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Facebook อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ยืนยันว่าจะทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง รวมถึงจะใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ Facebook ปลอดภัย “ผมคาดหวังว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการทำกำไรของบริษัท แต่ผมอยากจะอธิบายให้เคลียร์ว่าการทำให้ผู้ใช้รู้สึกปลอดภัยจะเป็นสิ่งที่สำคัญของเรามากกว่าการเพิ่มกำไรเสมอ”

 

หลังเกิดเหตุการณ์ข้อมูลผู้ใช้หลุดกว่า 87 ล้านรายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Facebook ก็ออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด ทั้งเพิ่มฟีเจอร์ปุ่มลบข้อมูลประวัติการใช้งานแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ต่างๆ (Clear History) การเพิ่มปุ่มให้ผู้ใช้ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลจากแอปพลิเคชันได้ง่ายขึ้น และการบีบให้นักพัฒนาแอปฯ ต่างเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ได้น้อยลง

 

อย่างไรก็ดี มาตรการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา มาร์กยอมรับด้วยตัวเองว่า Facebook อาจจะเคลื่อนไหวช้าไป โดยยกกรณีที่ไม่สามารถสกัดกั้นการแทรกแซงการเลือกตั้งจากผู้ไม่หวังดีในรัสเซียที่ใช้แอ็กเคานต์ปลอมเผยแพร่ข้อมูลข่าวปลอมในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016


แน่นอนว่าท่าทีของสมาชิกรัฐสภายุโรปดูจะไม่พอใจกับคำตอบของมาร์กสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่รู้สึกคล้ายๆ กันว่ามาร์กอาจเลี่ยงบาลี ไม่พยายามอธิบายและตอบคำถามทั้งหมด แต่ใช้การขอโทษแทน ถึงขนาดที่สมาชิกรัฐสภารายหนึ่งยังถามมาร์กเลยว่าเขาอยากจะถูกจดจำในฐานะอัจฉริยะผู้ประดิษฐ์ปีศาจโลกดิจิทัลจริงหรือ

 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกเช่นนั้น เพราะประธานสมาชิกรัฐสภายุโรป อันโตนิโอ ทาจานี ผู้ที่เชิญมาร์กเข้ามาร่วมประชุมกลับมองว่าการให้การในครั้งนี้ราบรื่นและประสบความสำเร็จ แม้จะรู้สึกอยู่บ้างว่าคำขอโทษของเจ้าตัวอาจจะไม่เพียงพอ แต่ก็จะรอดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภายภาคหน้า

 

ขณะที่ในวันพุธนี้ มาร์กยังมีคิวเดินทางไปพบกับ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X