มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ใน ครม. เศรษฐา 2 แสดงวิสัยทัศน์ในการแถลงทิศทางนโยบายการต่างประเทศภายใต้หัวข้อ ‘Ignite Thailand, Re-ignite Thai Diplomacy’ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเน้นว่ามีหลายภารกิจด้านการต่างประเทศที่ต้องทำ หลังได้รับมอบหมายจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
เป็นที่รู้กันว่าการขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศถือเป็นหน้าที่สำคัญของชาติที่ ‘หนัก’ และ ‘ไม่ง่าย’ ท่ามกลางสถานการณ์ในเวทีโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ขณะที่สถานการณ์ในบ้านเราต้องการแรงหนุนจากนอกประเทศ ทั้งภาคเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว
มุมมองและเป้าหมายของมาริษ ซึ่งเคยผ่านงานกระทรวงการต่างประเทศและด้านการทูตมามากมาย จากการเป็นอดีตเอกอัครราชทูตของหลายประเทศ จะสามารถนำเอาประสบการณ์พาไทยสยายปีกสู่เวทีโลกได้หรือไม่ โดยเขาได้วางภารกิจสำคัญใน 3 มิติ ที่ต้องเร่งทำเป็นการด่วน ได้แก่
1. ฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่างประเทศ
ภารกิจเร่งด่วนสำหรับการฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย ได้แก่
- นำไทยกลับมาสู่ความสนใจของทั่วโลกอีกครั้ง
- เน้นบทบาทของไทย ส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว
- บอกให้ประชาคมโลกทราบว่า ไทยกลับคืนสู่การเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ
- ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง นโยบายมุ่งเน้นเศรษฐกิจ เพื่อนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชน
- ให้ความสำคัญต่อปัจจัยภายนอก การค้าระหว่างประเทศ
- สร้างขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดการลงทุน
- ยกระดับการศึกษาและพัฒนาแรงงาน เพื่อรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่
- มุ่งเน้นยุทธศาสตร์โลเคชัน จากจุดแข็งของไทยที่ตั้งอยู่กึ่งกลาง เชื่อมระหว่างภูมิภาคต่างๆ
- ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนไทยเป็นฮับของ 8 สาขา เช่น คมนาคม อาหาร ท่องเที่ยว และการแพทย์
- เน้นบทบาทไทยในการแก้ปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในภูมิภาค
- ร่วมมือกับมิตรประเทศในแต่ละองค์กรหรือกลุ่มประเทศ เพื่อสร้างความรุ่งเรืองแก่ประเทศสมาชิก
- ส่งเสริมการเจรจาความตกลง FTA เพื่อผลประโยชน์ด้านการค้า
- ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การให้ฟรีวีซ่า
- การแลกเปลี่ยนทางด้านซอฟต์พาวเวอร์
- การดูแลคุ้มครองคนไทยแบบทันเหตุการณ์
2. พาไทยกลับมามีบทบาทนำในเวทีโลก
อีกสิ่งสำคัญคือ การทำให้ไทยกลับมามีบทบาทนำ ทั้งในระดับภูมิภาคและประชาคมโลก โดยภารกิจสำคัญที่ต้องเดินหน้า ได้แก่
- การมีบทบาทในกลุ่มประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคที่ไทยเป็นสมาชิก
- เน้นบทบาทช่วยเหลือนานาประเทศในการแก้ปัญหา
- มีกรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ร่วมมือกับมิตรประเทศในกรอบอนุภูมิภาค ได้แก่ ACMECS, แม่โขง-ล้านช้าง, BIMSTEC, RCEP, APEC, BRICS และ OECD
- ผลักดันให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องความท้าทายใหม่ๆ ได้แก่ ภาวะโลกรวน การพัฒนา AI และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
3. ให้ความสำคัญประเทศเพื่อนบ้าน
อีกประเด็นสำคัญที่มาริษมุ่งเน้นคือ การให้ความสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดหรือใกล้เคียงกับไทย ซึ่งมีหลายภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำ ได้แก่
- การเสริมสร้างสันติสุขร่วมกันระหว่างประชาชนบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์ให้เกิดขึ้น
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศ (Six Countries, One Destination)
- ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์กับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวนำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความมั่นคง
โดยในส่วนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ละประเทศก็มีวาระความร่วมมือที่ต่างกัน ได้แก่
ความร่วมมือกับ สปป.ลาว
- พัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำ
ความร่วมมือกับมาเลเซีย
- พูดคุยแก้ปัญหาความมั่นคงชายแดนภาคใต้
- พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางใต้ของไทยกับตอนเหนือของมาเลเซีย
- ส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจ
ความร่วมมือกับกัมพูชา
- เปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เสียมราฐ อำนวยความสะดวกในการติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชน
- ความร่วมมือกำจัดฝุ่นควัน PM2.5
- การเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม บริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างเป็นระบบร่วมกัน
ความร่วมมือกับเมียนมา
- สนับสนุนสันติภาพในเมียนมา
- การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
- แก้ไขปัญหาอาชญากรรมแนวชายแดน ได้แก่ การลักลอบขนยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และธุรกิจสีเทา
- ชูบทบาทสร้างการเจรจาสันติภาพ
อ้างอิง: