วันนี้ (9 มกราคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระพิจารณากระทู้ถาม กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ตั้งกระทู้ถามสด มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ออนไลน์สแกม ขบวนการค้ามนุษย์ และเรือประมงไทย
กัณวีร์กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเชิญ 5 ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ทั้งไทย สปป.ลาว จีน อินเดีย และบังกลาเทศ มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงการสร้างสันติภาพในเมียนมานั้น ได้พูดคุยถึงการเลือกตั้งในปี 2568 ของเมียนมา ที่สภาทหารเมียนมาเล็งจะใช้เวทีการหารือดังกล่าวมารับรองผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่
มาริษลุกขึ้นชี้แจงว่า การประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เป็นการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบในเมียนมา แต่ไม่มีส่วนใดหรือประเทศไหนพูดคุยเกี่ยวกับการยอมรับผลการเลือกตั้งในเมียนมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเมียนมาทั้งหมด
ขณะที่เรื่องการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา มาริษชี้แจงว่า ทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา จึงส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการหาทางออกช่วยเหลือให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลาย เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าสถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การดำเนินการทางการทูตที่ผ่านมาจึงต้องทำให้สมดุลในหลากหลายมิติและหลากหลายช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งในเรื่องของผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
“ต้องประเมินจังหวะเวลาที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างเงียบๆ แบบ Quiet Diplomacy โดยไทยมีหลักการสำคัญคือไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงของทุกกลุ่ม และไม่ต้องการเห็นการสู้รบคงอยู่ต่อไปในเมียนมา เพื่อให้เมียนมากลับสู่ความสงบสุขและชาวเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงต้องมีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับทุกภาคส่วน” มาริษกล่าว
ส่วนเรื่องปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ นั้น มาริษย้ำว่าเป็นเรื่องภายในของเมียนมา ดังนั้นฝ่ายต่างๆ ของเมียนมาจะต้องหาทางออกกันเอง จึงมีความยั่งยืน ซึ่งประเทศภายนอกไม่สามารถเข้าไปบีบบังคับให้เมียนมาเป็นไปในรูปแบบที่ตนต้องการได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประเทศไทยจะสนับสนุนคือพยายามหาทางให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้ามาคุยกันตามกระบวนการ และดำเนินการทูตเชิงรุก เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความปรองดอง อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือสังคม เป็นต้น
กัณวีร์จึงตอบว่า ปัจจุบัน Quiet Diplomacy ไม่สามารถทำได้แล้ว ดังนั้นขอเสนอให้ไทยเริ่มกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา ต้องไม่ทำการทูตแบบเงียบๆ เพราะอย่างจีนและอาเซียนก็ยังแสดงบทบาทที่จะแก้ปัญหา ไทยต้องใช้นโยบายทางการทูตด้วยการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ ต้องใช้จุดแข็งในการแสดงบทบาทเป็นผู้นำสร้างสันติภาพ