วันนี้ (5 กรกฎาคม) ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปลอดภัย) กล่าวถึงกรณีคลิปวิดีโอเหตุการณ์เรือข้ามฟากโคลงเคลงขณะกำลังให้บริการข้ามฟากจากท่าวัดระฆังไปท่าช้าง วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติของเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีเรือจำนวนมากในบริเวณนั้น
ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า เรือข้ามฟาก เรือลากจูง เรือดินเนอร์ครุยส์ เรือยอชต์ส่วนตัว ซึ่งเป็นการใช้แม่น้ำร่วมกัน เมื่อมีเรือมากจึงเกิดคลื่นจากเรือวิ่ง แต่ที่ผ่านมายืนยันว่า มีการกำหนดความเร็วเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว โดยจะต้องไม่เกิน 15 นอต
ภูริพัฒน์กล่าวต่อว่า ตามปกติเรือข้ามฟากจะวิ่งขวางคลื่น เมื่อตกร่องคลื่นจึงเกิดการโคลงเคลง ซึ่งตามธรรมชาติเรือจะเอียงได้ถึง 45 องศา และภายในเรือจะต้องผนึกน้ำที่ทำให้เรือลอยได้ และเรือทุกลำจะมีการคำนวณเรื่องการทรงตัวเรือว่าหากเอียงเกิน 45 องศาต้องไม่คว่ำหรือจม
ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายควบคุมว่าผู้โดยสารจะต้องสวมชูชีพ แต่กำหนดว่าในเรือจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ห่วงยาง และเสื้อชูชีพจะต้องมีเพียงพอ
ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ติดตามการใช้ความเร็วในแม่น้ำเจ้าพระยามาโดยตลอด ขณะนี้เรือบางลำได้ติดตั้งจีพีเอส ซึ่งหากมีการใช้ความเร็วจะสั่งหยุดเดินเรือทันที ขณะเดียวกันในอนาคตอาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการปรับลดความเร็วเรือในบางพื้นที่ที่มีเรือใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการเดินเรือต่อไป