×

6 เรื่องราวของหญิงเหล็ก Margaret Thatcher ที่ควรรู้จากเรื่อง The Crown ซีซัน 4

24.11.2020
  • LOADING...
6 เรื่องราวของหญิงเหล็ก Margaret Thatcher ที่ควรรู้จากเรื่อง The Crown ซีซัน 4

หากใครได้ดู The Crown ซีซันล่าสุด จะได้เห็นสิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของภาคนี้ นั่นคือหลายๆ ฉากที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (รับบทโดย โอลิเวีย โคลแมน และ จิลเลียน แอนเดอร์สัน) สนทนากันแบบสุภาพ นอบน้อม หากแต่แฝงไปด้วยคำพูดเชือดเฉือนแบบเย็นๆ ที่ทำเอาคนดูลุ้นทุกครั้งที่ทั้งสองได้เจอหน้ากัน

 

โดยในซีซันนี้เป็นช่วงเวลาที่มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 11 ปี ซึ่งเรื่องราวระหว่างการปกครองของผู้หญิงทรงอิทธิพลสองคนจะจริงเท็จอย่างไร THE STANDARD POP ได้รวบรวมมาให้แล้ว 

 

 

  1. การเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะยืนหยัดเพื่อคนเพศเดียวกัน

 

“โดยทั่วไปหม่อมฉันพบว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับการดำรงตำแหน่งสูงๆ พวกนางอารมณ์อ่อนไหวเกินไป” นี่คือคำตอบของมาร์กาเร็ตเมื่อเธอถูกควีนเอลิซาเบธถามถึงผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจากเอพิโสดแรก โดยในความเป็นจริงนั้น ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ด้วยการเป็นนายกหญิงคนแรกในประเทศอังกฤษที่ดำรงตำแหน่งถึง 11 ปี และยังสร้างผลงานไว้มากมาย จนรัสเซียขนานนามเธอว่า ‘หญิงเหล็ก’ แต่เธอไม่ได้เป็นตัวแทนของเฟมินิสต์แต่อย่างใด ซึ่งตลอด 11 ปี มาร์กาเร็ตเคยเลื่อนตำแหน่งให้สมาชิกผู้หญิงในพรรคของเธอทั้งหมด 1 ครั้ง และไม่เคยมีนโยบายที่ส่งเสริมเพศหญิงทั้งทางสายอาชีพและด้านสาธารณะสุข เช่น สวัสดิการการคลอดลูก หรือการตรวจมะเร็งเต้านม อีกทั้งเธอยังมีความเชื่อแบบอนุรักษนิยมว่า ผู้หญิงควรมีหน้าที่ดูแลสามี เป็นแม่ที่ดี และไม่ควรมีความทะเยอทะยานในสายอาชีพมากนัก เธอมีความเชื่อว่า สิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงยกระดับฐานะตัวเองที่ได้ผลที่สุดคือ การแต่งงานกับผู้ชายที่ชนชั้นสูงกว่า ที่สำคัญเธอชอบใช้เวลากับผู้ชายมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด และยังเกลียดเมื่อคนเรียกเธอว่านายกหญิง แทนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีธรรมดา (ที่ไม่ระบุเพศ) นับว่าเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่งของเธอ ที่สร้างความฉงนให้กับคนรอบข้างมาโดยตลอด

 

 

  1. สัปดาห์แห่งหายนะของมาร์กาเร็ต ณ พระราชวังสกอตแลนด์

 

ปราสาทบาลมอรัล แห่งสกอตแลนด์ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของราชวงศ์ที่ควีนเอลิซาเบธโปรดปรานที่สุด โดยเธอมักจะใช้เวลาพักผ่อนอย่างผ่อนคลายกับครอบครัวที่นี่ กิจกรรมสุดโปรดของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ คือการออกล่าสัตว์ เลี้ยงม้า เล่นเกม และเป็นประเพณีที่พระราชินีจะเชิญนายกรัฐมนตรี หรือแขกคนสำคัญมาร่วมพักผ่อน โดยครั้งแรกที่มาร์กาเร็ตและสามีไปร่วมพักผ่อนนั้น พวกเขาไม่สามารถเข้ากับทั้งเอลิซาเบธ และสมาชิกราชวงศ์ได้เหมือนในซีรีส์ 

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์วินด์เซอร์ได้ให้ข้อมูลว่า ‘บททดสอบแห่งบาลมอรัล’ นั้นมีจริง หากแขกคนใหม่ไปร่วมพักผ่อน และไม่ผ่านบททดสอบนี้ก็จะมีความสัมพันธ์แบบเหินห่างกับราชวงศ์ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าคู่แทตเชอร์ไม่ผ่านการทดสอบด้วยความแตกต่างทางรสนิยมที่มีมากเกินไป มาร์กาเร็ตได้ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือ The Queen and Mrs Thatcher โดยขนานนามทริปบาลมอรัลครั้งแรกของเธอว่าเป็น ‘ทริปขุมนรก’ และเป็น ‘โลกที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง’ ทริปดังกล่าวกลายเป็นจุดกำเนิดความสัมพันธ์อันเย็นชา และห่างเหินของทั้งสองที่ดำรงอยู่หลายต่อหลายปี

 

 

  1. มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เคยเป็นลมหน้ามืดมากกว่าสองครั้ง จากความตื่นเต้นเมื่อต้องเข้าเฝ้าพระราชินีใหม่ๆ

 

มาร์กาเร็ตเคยเข้าเฝ้าควีนเอลิซาเบธในฐานะหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแล้วหลายครั้ง ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ และด้วยความที่เธอเป็นคนหัวอนุรักษนิยม ที่เคารพและเคร่งครัดในพิธีการของพระราชวัง รวมไปถึงข้อปฏิบัติกับควีนเอลิซาเบธและสมาชิกราชวงศ์ เธอมักจะย่อตัวให้กับควีนเอลิซาเบธลงต่ำจนเกือบถึงพื้น และมักจะไปถึงก่อนเวลานัดอยู่เสมอ 

 

ข้อมูลจากหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ The Downing Street Years ได้เผยข้อมูลว่า เธอเกิดความเครียดจากการพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องอย่างเข้มข้น จนถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมอยู่หลายครั้งในพระราชวัง ผู้คนที่มีส่วนร่วมในการพบปะกันเหล่านั้น จะได้ยินพระราชินีตรัส “ใครก็ได้ช่วยพยุงผู้หญิงคนนั้นที!” จนชินหู

 

 

  1. ที่มาของบุคลิกอันโดดเด่นของมาร์กาเร็ต

 

มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เติบโตในเมืองแกรนแธม ทางเหนือของประเทศอังกฤษ พ่อของเธอเป็นเจ้าของร้านขายของชำ สมาชิกสภาเทศบาล และนักเทศน์อิสระที่เคร่งศาสนามาก เมื่อเติบโตขึ้นเธอเริ่มเรียนการพูดเพื่อไม่ให้มีสำเนียงแบบคนต่างจังหวัด ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เคียงข้างเหล่าลูกหลานของคนชนชั้นสูง และแต่งงานกับชายหนุ่มที่ร่ำรวยนาม เดนิส แทตเชอร์ ซึ่งการก้าวกระโดดทางสังคมของเธอ ทำให้มาร์กาเร็ตมักจะพยายามมากเกินไป เพื่อให้ตัวเองกลมกลืนกับสังคมชนชั้นสูง โดยเฉพาะเมื่อเธอเข้าทำงานกับพรรคการเมือง เพราะประเทศอังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแบ่งชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูงอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีฐานะคือคนที่ได้รับมรดกตกทอดลงมาเท่านั้น สำเนียงการพูดอันประดิดประดอย และบุคลิกที่ดูวางท่าของเธอ ทำให้พระราชินีรู้สึกรำคาญในครั้งแรกๆ ที่ทั้งสองพบกัน

 

 

  1. ความเหมือนที่แตกต่างของมาร์กาเร็ตและควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

‘ประเทศอังกฤษกำลังจะถูกปกครองโดยผู้หญิงทรงอิทธิพลสองคน’ ดังที่ซีรีส์ได้เกริ่นเอาไว้ ในยุคที่มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ทิศทางของประเทศอังกฤษอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ผู้หญิงสองคน ที่มีบุคลิกและความชอบที่ต่างกันเกือบทุกเรื่อง แต่แท้จริงแล้วทั้งสองมีพื้นเพหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันอยู่

 

มาร์กาเร็ตมีอายุมากกว่าควีนเอลิซาเบธเพียง 6 เดือน ทั้งสองเติบโตเป็นสาวในยุคที่ประเทศอังกฤษประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ปัญหาตกงาน อดอยาก หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อของพวกเธอมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของทั้งคู่เป็นอย่างมาก ในขณะที่มาร์กาเร็ตตั้งใจทำงานหนักชนิดกรีดเลือดกรีดเนื้อ โดยมีพ่อเป็นแบบอย่าง และยังมีความฝักใฝ่ต่อลัทธิอนุรักษนิยม โดยเฉพาะบทบาททางเพศในสังคมที่มาจากการปลูกฝังความคิดเหล่านี้จากพ่อผู้เป็นนักเทศน์ 

 

ควีนเอลิซาเบธก็ตั้งใจทำงาน โดยมีพระบิดาเป็นแบบอย่างเช่นกัน คิงจอร์จที่ 6 เป็นพระราชาที่ผู้คนต่างรักใคร่ เพราะเป็นผู้ที่พาประเทศอังกฤษผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ โดยควีนเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์ครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 25 ปี อ้างอิงจาก The Royal House of Windsor เมื่อครั้งครองราชย์แรกๆ เธอมักจะพูดว่า ถ้าเป็นบิดาของเราคงจะทำแบบนี้ หรือท่านคงตรัสกับเราแบบนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคิงจอร์จที่ 6 มีอิทธิพลในการปกครองแรกๆ ของควีนเอลิซาเบธเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือพ่อของทั้งสองคนเลี้ยงดูลูกด้วยความเข้มงวด และไม่ค่อยประนีประนอม ดังที่เห็นว่ามาร์กาเร็ต แทตเชอร์ มักจะทำอะไรแบบเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และสำหรับควีนเอลิซาเบธนั้น ไม่มีอะไรที่สำคัญกว่าหน้าที่การเป็นพระราชินีของเธอเลย 

 

 

  1. นโยบายการแบ่งสีผิวในแอฟริกา ชนวนข่าวลือความสัมพันธ์อันร้าวฉานของมาร์กาเร็ตและควีน

 

ในปี 1986 เกิดปัญหาขึ้นในเครือจักรภพ เมื่อมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ไม่ลงเสียงคว่ำบาตรประเทศแอฟริกาเพื่อต่อต้านกฎหมายการแบ่งสีผิว โดยในซีรีส์ควีนเอลิซาเบธได้มีการขอให้มาร์กาเร็ตลงชื่อ และเกิดการโต้เถียงกันจนกลายเป็นความบาดหมาง สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนหนังสือ The Last Queen: Elizabeth II’s Seventy Year Battle to Save the House of Windsor รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ได้ออกมา

ให้ความเห็นอย่างตรงกันว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะควีนเอลิซาเบธไม่เคยออกความเห็นในการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทรงวางตัวเป็นกลางอยู่เสมอ แม้แต่กับคนสนิทและครอบครัว ควีนเอลิซาเบธก็ไม่เคยแสดงความเห็นอย่างโต้งๆ ออกมา หากพูดถึงความเป็นไปได้นั้น ควีนเอลิซาเบธอาจจะให้กำลังใจเนลสัน แมนเดลา แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอย่างแน่นอน บทสนทนาที่เชือดเฉือนของทั้งคู่ในเอพิโสด 48:1 น่าจะมา

จากจินตนาการของผู้เขียนบทอย่างปีเตอร์ มอร์แกน ที่ได้แรงบันดาลใจจากบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ The Sunday Times เท่านั้น

 

ภาพ: Netflix, Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X