กระทรวงพาณิชย์เผยอัตรา เงินเฟ้อ เดือนมีนาคมลดลง 0.47% ติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติด พาณิชย์ประเมินไตรมาส 2 มีแนวโน้มดีขึ้น ปรับเป้าเฉลี่ยทั้งปีเป็น 0.5% จาก 0.7%
วันนี้ (5 เมษายน) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) เดือนมีนาคม 2567 ลดลง 0.47%YoY นับเป็นการติดลบต่อเนื่อง 6 เดือนติดแล้ว และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายแบงก์ชาติเป็นเดือนที่ 11
โดยมีปัจจัยมาจากการปรับลดลงตามราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกรและผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดราคายังคงปรับลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.37% YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 0.43%
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ติดลบ 0.79%YoY เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้
- ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
- อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ฐานค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องจากรัฐบาลมีการดำเนินมาตรการลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก
- การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่
- ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผัก รวมทั้งราคาในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
- เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี
- การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 เป็นระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) จากเดิมระหว่าง -0.3% ถึง 1.7% (ค่ากลาง 0.7%) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะมีการทบทวนต่อไป