×

ส่งออก มี.ค. 2025 โตสูงสุดในรอบ 3 ปี แต่ส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัวจากสงครามการค้า

26.04.2025
  • LOADING...
march-2025-export-growth

มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน มี.ค. 2025 โต 17.8%YOY เร่งตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี อยู่ที่ 29,548.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่คาดไว้บ้าง (SCB EIC ประเมินไว้ 14.7% และค่ากลาง Reuters Poll 13.5%) ส่งออกไทยเดือนนี้ขยายตัวสูงต่อเนื่องจาก 14% และ 13.6% ในเดือน ก.พ. และ ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 15.2%

 

SCB EIC ประเมินส่งออกไทยเดือนนี้ได้รับอานิสงส์จากการเร่งผลิตและส่งออกก่อนสหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ และปัจจัยวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นเป็นสำคัญ สะท้อนจาก (1) การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวมากถึง 34.3% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวถึง 107.2% และ 44.4% ตามลำดับ (2) การส่งออกไปจีนขยายตัวดี 22.2% ต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางและขั้นต้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม (3) การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวดี เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โต 80.2% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ 94.6% และแผงวงจรไฟฟ้า 41.5%

 

ทองคำยังเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญในเดือน มี.ค. 2025 แรงส่งจากประเด็นพิเศษทองคำที่เห็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเริ่มหมดลง โดยการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังคงขยายตัวสูงมากถึง 269.5% เร่งขึ้นจาก 26.1% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดสวิตเซอร์แลนด์ (1,090.5%), กัมพูชา (60.5%), ฮ่องกง (195.0%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (100%) ซึ่งเป็นผลจากความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา สำหรับแรงส่งจากการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ 

 

ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกทองคำในรูปของทองคำผสมแพลทินัมในสัดส่วนน้อยไปยังตลาดอินเดียเพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้นำเข้าอินเดีย[1] นั้นเริ่มมีสัญญาณใกล้หมดลง โดยมีมูลค่าเพียง 202.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว 1,022.6%) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว 4,159.6%) อย่างชัดเจน และปัจจัยพิเศษนี้มีแนวโน้มจะสิ้นสุด เนื่องจากทางการอินเดียได้ทำการย้ายสินค้าโลหะผสมแพลทินัมออกจากประเภทสินค้านำเข้าปลอดภาษีแล้วในต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังคงยกเว้นการนำเข้าโลหะผสมแพลทินัมบริสุทธิ์ 99% (รูปที่ 5) 

 

ส่งออกไทย

 

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกทองคำและสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ นี้ มีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยในภาพรวมของเดือนนี้เติบโต (Contribution to Growth) ได้ถึง 5.4% จากอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่ 17.8% (รูปที่ 3)

 

ส่งออกไทย

 

ส่งออก มี.ค. ได้แรงขับเคลื่อนจากสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่สินค้าหมวดหลักอื่นหดตัว

 

หากพิจารณารายหมวด พบว่า 

(1) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 23.5% เติบโตดีต่อเนื่องนับปี โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหักทอง, ทองคำยังไม่ขึ้นรูป, เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์, อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขณะที่เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบของเล่น และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นสินค้าหลักที่หดตัว ทั้งนี้ หากหักทองคำและสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัวได้ 17.1% 

 

(2) สินค้าเกษตรหดตัว -0.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่หดตัวน้อยลงบ้าง โดยยางพาราและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งขยายตัวดี ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและข้าวหดตัวต่อเนื่อง 

 

(3) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน -5.7% จากที่เคยขยายตัวสูง 9.9% ในเดือนก่อน โดยอาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัวดี ขณะที่น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปหดตัว 

 

(4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังหดตัว -9% ต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัว -8.0% แรงกว่าเดือนก่อนที่หดตัวเพียง -3.6% และเป็นการหดตัวต่อเนื่องนานกว่าครึ่งปี

 

ตลาดส่งออกสำคัญของไทยขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นออสเตรเลีย

 

หากพิจารณารายตลาด พบว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยเดือน มี.ค. ขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นออสเตรเลียที่หดตัว -10.3% โดยหดตัวติดต่อกัน 6 เดือน ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไทย ขยายตัวดี 34.3% และ 22.2% ตามลำดับ

 

ส่งออกไทย

 

หากพิจารณาแหล่งที่มาของการส่งออกรายตลาด พบว่าในเดือน มี.ค. การส่งออกไปสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ และจีน เป็นแหล่งที่มาของการขยายตัวสูง 6.3%, 2.7% และ 2.5% ตามลำดับ (รูปที่ 4) โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ที่ขยายตัวดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เช่น ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป สำหรับสินค้าส่งออกไปจีนที่ขยายตัวดีค่อนข้างกระจายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง น้ำมันสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม

 

ส่งออกไทย

 

นำเข้าเดือน มี.ค. 2025 ขยายตัวสูงกว่าคาด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าเดือน มี.ค. อยู่ที่ 28,575.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.2% สูงกว่าที่ประเมินไว้ (SCB EIC ประเมิน 4.9% และค่ากลาง Reuters Poll 6.1%) เร่งขึ้นจาก 4.0% ในเดือนก่อน และนำเข้าโตต่อเนื่องมานาน 9 เดือนแล้ว ทั้งนี้ การนำเข้าไม่รวมทองคำขยายตัวสูง 8.1% จากที่เคยหดตัว -0.5% ในเดือนก่อน โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (รวมทองคำ) และสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัว 19.0%, 15.8%, 9.5% และ 2.2% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง รวมถึงอาวุธและยุทธปัจจัยหดตัว -2.6% และ -2.2% ตามลำดับ ข้อมูลดุลการค้าไทย (ระบบศุลกากร) ในเดือน มี.ค. เกินดุล 973.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 ดุลการค้าไทยเกินดุลสะสม 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

SCB EIC ประเมินส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัว -0.4% สงครามการค้าจะกระทบช่วงครึ่งปีหลัง

 

SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าส่งออกไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 จะขยายตัวดี โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกไตรมาส 1 ขยายตัวมากถึง 15.2% ขณะที่ไตรมาส 2 จะชะลอตัวลงมาก เพราะหลายแรงส่งสำคัญจะแผ่วลง โดยเฉพาะการเร่งสั่งซื้อของคู่ค้าก่อนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผล อานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และปัจจัยการส่งออกทองคำ รวมถึงปัจจัยการส่งออกทองคำผสมโลหะอื่นไปอินเดีย 

 

นอกจากนี้ การส่งออกช่วงปลายไตรมาส 2 จะเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10% (Universal tariff) กับเกือบทุกประเทศคู่ค้าทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว รวมถึงประกาศเก็บสินค้าเฉพาะเจาะจง (Specific Tariffs) รายประเทศ/รายสินค้าหลายรายการ เช่น สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม สินค้ายานยนต์ เก็บเพิ่ม 25% จากคู่ค้าเกือบทุกประเทศ อย่างไรก็ดี แม้ทรัมป์จะประกาศเลื่อนกำหนดเก็บภาษีตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal Tariffs) ออกไป 90 วันก็ตาม แต่จีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญสุดของไทยถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ไปสูงมากถึง 125% (และหากรวมภาษีเฉพาะเจาะจงรายประเทศ 20% บนข้อกล่าวหา Fentanly ด้วยแล้ว จีนจะถูกเก็บภาษีตอบโต้รวมสูงถึง 145%)

 

SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะเผชิญปัจจัยกดดันและความไม่แน่นอนที่รุนแรงมากขึ้น มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวรุนแรง โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเสี่ยงหดตัว -0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.6% (ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน, มุมมอง ณ มี.ค. 2025) 

 

สาเหตุหลักมาจาก

 

  1. อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ สูงและกระทบเป็นวงกว้างกว่าที่เคยคาดไว้ ในช่วงต้นปี SCB EIC ประเมินว่านโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะไม่สุดโต่งมากนัก อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจจะไม่สูงมากและมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างจำกัด โดยอัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริง (Effective Tariff Rate: ETR) ของสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นราว 11.3% อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าทั้งหมดที่ประกาศไว้ จะมีผลทำให้ ETR ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% สูงกว่าที่ประเมินไว้เกือบเท่าตัว
  2. นโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตเพียง 2.2% (เทียบ 2.7% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2023) และโลกมีความเสี่ยงราว 35-50% ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) (รูปที่ 4 ซ้าย) นอกจากนี้ ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงรุนแรงเช่นกัน องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการปริมาณการค้าโลกปี 2025 ลงจากการประเมินครั้งก่อนเหลือ -0.2 และ 1.7% (เดิม 2.7% และ 3.2% ตามลำดับ) (รูปที่ 6)

 

ส่งออกไทย

 

3. ไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงสูง เนื่องจากพึ่งตลาดสหรัฐฯ และเสี่ยงอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้สูง โดยสหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หรือมีสัดส่วน 10% ของ GDP ซึ่งค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ไทยอาจโดนภาษีนำเข้าตอบโต้จากสหรัฐฯ สูงถึง 36% สูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยทั่วโลก เอเชีย และอาเซียนที่ 17% 23% และ 33% ตามลำดับ (รูปที่ 7) 

 

ส่งออกไทย

 

การส่งออกไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงสูงผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) Substitution effect: สหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไทยสูงถึง 36% ขณะที่ประเทศต่างๆ โดนอัตราภาษีน้อยกว่ามาก (ส่วนใหญ่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10%) จึงอาจทำให้สหรัฐฯ หันไปนําเข้าสินค้าจากคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า 2) Income Effect: สหรัฐฯ อาจนําเข้าสินค้าจากไทยและคู่ค้าอื่นๆ น้อยลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงมากจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเอง

 

4.  ผลกระทบทางอ้อมอาจรุนแรงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการแข่งขันนอกตลาดสหรัฐฯ อาจรุนแรงขึ้น ทำให้การส่งออกไทยอาจชะลอตัวลงได้ด้วย จาก 1) ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทยลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค 2) ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง จากการผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง 3) การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ต้องระบายสินค้าขายตลาดอื่นมากขึ้น 4) บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง

5. ตลาดส่งออกหลักอื่นๆ ของไทยค่อนข้างกระจุกตัวในประเทศที่อาจถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้สูง โดย SCB EIC พบว่า 12 ใน 15 ตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย คิดเป็น 73.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด (ไม่รวมสหรัฐฯ) เสี่ยงที่จะถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกในอัตรา 17% (รูปที่ 8) การส่งออกไทยไปยังตลาดหลักอื่นๆ กลุ่มนี้อาจลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจประเทศที่อาจชะลอลงด้วย

 

ส่งออกไทย

 

6.ปัจจัยหนุนตั้งแต่ต้นปีจะทยอยหมดลง เช่น การเร่งผลิตและส่งออกก่อนสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีจริง อานิสงส์วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ปัจจัยการส่งออกทองคำจากความกังวลในช่วงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสูง และประเด็นพิเศษทองคำผสม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising