×

รู้จักเชื้อไวรัส ‘มาร์เบิร์ก’ ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับ ‘อีโบลา’ หลังพบผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตในประเทศกินี เป็นเคสแรกในแอฟริกาตะวันตก

12.08.2021
  • LOADING...
ไวรัสมาร์เบิร์ก

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีรายงานข่าวที่องค์การอนามัยโลกว่ามีการยืนยันจากประเทศกินีว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัส ‘มาร์เบิร์ก’ หนึ่งรายซึ่งเสียชีวิต ขณะที่รัฐบาลของกินีก็ยืนยันกรณีการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในแถลงการณ์เช่นกัน ล่าสุดผู้ที่อาจจะสัมผัสผู้ติดเชื้อดังกล่าวกว่า 155 คนก็ต้องถูกติดตามอาการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นครั้งแรกของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกที่พบผู้ติดเชื้อนี้

 

เมื่อชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู แล้วไวรัสชนิดนี้เป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเชื้อไวรัสก่อโรคอีโบลาที่เราเคยรู้จักมาก่อน เป็นภัยคุกคามระดับไหนเมื่อพิจารณาในระดับโลก นี่คือรายละเอียดที่เราชวนมาทำความรู้จักไวรัสตัวนี้กัน

 

  • ไวรัสนี้ถูกพบในตัวอย่างที่นำมาจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่เมือง Gueckedou ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ใกล้พรมแดนที่ติดกับประเทศเซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย อาการของผู้ป่วยรายนี้ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังการเสียชีวิตในชุมชน ปรากฏว่าผลการตรวจตัวอย่างที่ได้จากการชันสูตรศพนั้นได้ผลลบกับเชื้ออีโบลา แต่ได้ผลเป็นบวกกับเชื้อมาร์เบิร์ก กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 2 เดือน หลังองค์การอนามัยโลกประกาศการสิ้นสุดการระบาดครั้งที่ 2 ของโรคอีโบลา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 12 คน

 

  • ข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อไวรัสมาร์เบิร์กอยู่ในวงศ์ (Family) เดียวกับเชื้อไวรัสก่อโรคอีโบลา การระบาดใหญ่สองครั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเมืองมาร์เบิร์กและแฟรงก์เฟิร์ตในเยอรมนี และในกรุงเบลเกรดของเซอร์เบียในปี 1967 นำไปสู่การรับรู้โรคนี้ในระยะแรก การระบาดของเชื้อในขณะนั้นเกี่ยวข้องกับงานในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีการใช้ลิงเขียวแอฟริกันที่นำเข้ามาจากอูกันดา ต่อจากนั้นก็มีการระบาดและผู้ติดเชื้อเป็นบางครั้งในประเทศแอฟริกาใต้ แองโกลา เคนยา อูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และในปี 2008 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายที่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางไปยังถ้ำที่มีค้างคาวชนิด Rousettus Bat อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม

 

  • สำหรับการแพร่เชื้อ องค์การอนามัยโลกอธิบายว่า การติดเชื้อชนิดนี้ในมนุษย์เริ่มแรกเป็นผลมาจากการสัมผัสเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาว Rousettus Bat อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเป็นเวลานาน และเมื่อแพร่สู่คนแล้ว ก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปผ่านการสัมผัสของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ หรือจากพื้นผิวและวัสดุที่ปนเปื้อน

 

  • ระยะฟักตัว (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการ) จะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2 ถึง 21 วัน อาการป่วยจากไวรัสที่เริ่มต้นแบบทันทีทันใดคือมีไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง และรู้สึกไม่สบายตัวอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น อาทิ การปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งพบได้บ่อย ส่วนอาการอุจจาระร่วงรุนแรงแบบ Watery Diarrhea, ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน เหล่านี้จะเริ่มได้ในวันที่ 3 หลังเริ่มมีอาการ อาการอุจจาระร่วงดังกล่าวอาจเป็นได้ยาวถึง 1 สัปดาห์

 

  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากจะมีอาการเลือดออกง่ายแบบรุนแรงในวันที่ 5-7 หลังเริ่มมีอาการ ในกรณีที่เสียชีวิตมักมีเลือดออกจากหลายแห่ง ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงต่อเนื่อง ความเกี่ยวข้องของระบบประสาทส่วนกลางอาจทำให้มีอาการสับสน หงุดหงิดง่าย และก้าวร้าว และมีรายงานกรณีอัณฑะอักเสบหนึ่งหรือสองข้างเป็นครั้งคราวในระยะปลายของโรค (15 วัน) ในกรณีที่เสียชีวิต มักเสียชีวิตระหว่าง 8-9 วันหลังมีอาการ โดยมักจะมีการสูญเสียเลือดอย่างรุนแรงและช็อกมาก่อน

 

  • อัตราการเสียชีวิตจากการระบาดของโรคครั้งก่อนๆ มีตั้งแต่ร้อยละ 24-88 ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและการบริหารจัดการผู้ติดเชื้อ และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 50 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาเพื่อต่อต้านไวรัสที่ได้รับอนุญาต แต่การให้สารน้ำทางปากหรือหลอดเลือดดำ ตลอดจนการรักษาตามอาการก็เพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ ส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์จากเลือด การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน และการรักษาด้วยยาจำนวนหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา

 

  • ดร.มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกประจำแอฟริกา กล่าวว่า “ศักยภาพของไวรัสมาร์เบิร์กที่จะแพร่กระจายไปในวงกว้าง หมายความว่าเราจำเป็นต้องหยุดยั้งไวรัสนี้โดยทันที” องค์การอนามัยโลกพิจารณาว่าในระดับชาติและภูมิภาค ภัยคุกคามจากไวรัสนี้เป็นภัยคุกคามสูง แต่หากพิจารณาในระดับโลกยังคงเป็นภัยคุกคามต่ำ ดร.โมเอติยังบอกว่ากำลังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ในการดำเนินมาตรการตอบสนองอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยประสบการณ์ในอดีตและความเชี่ยวชาญของกินีในการรับมือกับเชื้ออีโบลา ซึ่งแพร่เชื้อในลักษณะคล้ายกัน

 

  • คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกจำนวน 10 คน ซึ่งรวมถึงนักระบาดวิทยาและนักมานุษยวิทยาสังคม อยู่ในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของกินีแล้ว โดยมาตรการตอบสนองฉุกเฉินนั้นมีหลายอย่าง เช่น การประเมินความเสี่ยง การเฝ้าระวังโรค การขับเคลื่อนและคัดกรองโดยชุมชน การดูแลทางคลินิก การควบคุมการติดเชื้อ และการสนับสนุนทางโลจิสติกส์ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังระบุถึงการส่งสารเพื่อลดความเสี่ยง ที่ต้องเน้นปัจจัยต่างๆ เช่น การลดความเสี่ยงแพร่เชื้อจากค้างคาวสู่คน หรือการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในชุมชน การแพร่เชื้อจากกิจกรรมทางเพศ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอื่น เช่น การติดตามผู้สัมผัส การจัดการศพผู้เสียชีวิตอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว เป็นต้น

 

ภาพ: IMAGE POINT FR / NIH / NIAID/BSIP / Universal Images Group via Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising