×

โลกรวนป่วนทั่วโลก! หลายประเทศเจออากาศร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ไหว

19.07.2023
  • LOADING...
อากาศร้อน

หากต้องนิยามคำสักคำหนึ่งเพื่อมาใช้บรรยายสภาพอากาศในเดือนกรกฎาคม ‘บ้าคลั่ง’ น่าจะเป็นคำที่ทำให้ทุกคนเห็นภาพความปั่นป่วนของเหตุสภาพอากาศสุดขั้วได้ดีที่สุด

 

ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมมานี้ ซึ่งผ่านมาแค่เพียงราวๆ ครึ่งเดือนเท่านั้น คนทั่วโลกกลับได้เป็นสักขีพยานถึงสภาพอากาศที่รุนแรง ปั่นป่วน บ้าคลั่ง ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก อันเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน เช่น สถานการณ์ของฝนห่าใหญ่ที่ถล่มหนักในหลายชาติเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่ง THE STANDARD เคยได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้

 

แต่โลกรวนไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นได้แค่อุทกภัย เพราะในเวลาเดียวกันนี้ มันยังสร้างอากาศที่ร้อนระอุจนมนุษย์แทบจะอยู่กันไม่ไหวในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งประเทศในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่ทะยานสู่ขีดอันตราย

 

เวลานี้แม้แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนที่ขัดแย้งกันในหลายเรื่อง ก็ยังหันหน้ามาจับมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาโลกรวนโดยเฉพาะ

 

สหรัฐฯ เจอสภาพอากาศปั่นป่วนครบสูตร ทั้งร้อนจัด ฝนหนัก ไฟป่า

 

ความบ้าคลั่งของสภาพอากาศกำลังป่วนสหรัฐฯ แบบครบสูตร โดยทางตะวันตกและทางตอนใต้ของประเทศกำลังเจอกับคลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่ตอนนี้โดนน้ำท่วมหนักจากฝนที่กระหน่ำลงมา ส่วนเขตมิดเวสต์ในเวลานี้ถูกโอบล้อมห่อหุ้มไปด้วยหมอกพิษจากควันไฟป่า

 

ปรากฏการณ์ ‘โดมความร้อน’ ที่แผ่ปกคลุมทางตะวันตกของสหรัฐฯ ทำให้อุณหภูมิที่หุบเขามรณะ หรือ Death Valley แห่งรัฐแคลิฟอร์เนียพุ่งสูงถึง 53 องศาเซลเซียส เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 กรกฎาคม) ติดโผหนึ่งในระดับอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่โลกเคยมีมาในรอบ 90 ปี

 

เมืองฟีนิกซ์ของรัฐแอริโซนาทำสถิติอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียส (110 ฟาเรนไฮต์) ต่อเนื่องกัน 19 วันติดวานนี้ (18 กรกฎาคม) โดยพยากรณ์อากาศระบุว่า สถิติดังกล่าวคาดว่าจะยาวนานกินเวลามากกว่านี้อีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์

 

ยุโรปร้อนเหมือนโดนย่าง อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสหลายพื้นที่

 

อย่างที่ THE STANDARD เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่านักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินแล้วว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเท่าที่โลกเคยเจอมา แต่จากข้อมูลใหม่ที่ออกมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ มันเริ่มมีแนวโน้มแล้วว่าเดือนกรกฎาคมก็อาจจะสร้างสถิติใหม่ไปตามแพทเทิร์นเดียวกับเดือนมิถุนายนก็เป็นได้

 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่า คลื่นความร้อนในซีกโลกเหนือจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก ขณะที่ในตอนนี้ยุโรปกำลังถูกเผาด้วยอุณหภูมิที่ร้อนระอุ ซึ่งหากย้อนดูสถิติของปี 2022 เพียงปีเดียว จะพบว่ามีประชาชนกว่า 61,000 คน เสียชีวิตในช่วงฤดูร้อนของปีที่ผ่านมา อันเป็นฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์

 

ปัจจุบันศูนย์ประสานงานรับมือเหตุฉุกเฉินของสหภาพยุโรปออกคำเตือนภัยระดับสีแดง หรือเป็นการแจ้งว่าขณะนี้อุณหภูมิในพื้นที่สูงจัดจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิตาลี สเปนตะวันออกเฉียงเหนือ โครเอเชีย เซอร์เบีย รวมถึงทางตอนใต้ของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และมอนเตเนโกร

 

สำหรับในอิตาลีนั้น ภาพที่ทุกคนเห็นชินตาในตอนนี้คือบรรดานักท่องเที่ยวที่พยายามคลายร้อนด้วยการจุ่มศีรษะลงในน้ำพุของกรุงโรม บ้างก็นำน้ำดังกล่าวมาประพรมร่างกายเพื่อช่วยบรรเทาผิวที่แสบแดง บางคนก็ไปยืนจ่อหน้าพัดลมยักษ์ที่ตั้งอยู่หน้าโคลอสเซียม ขณะที่บริการแท็กซี่นั้นเรียกได้ว่าฮอตสุดๆ ในช่วงที่อากาศร้อนเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาบริการรถไม่เพียงพอกับความต้องการ นักท่องเที่ยวบางคนถึงกับต้องต่อคิวรอแท็กซี่นานกว่า 1 ชั่วโมง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจนแทบละลาย

 

เกาะซาร์ดิเนียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอุณหภูมิทะยานแตะระดับ 44 องศาเซลเซียส และกรุงโรมมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสวานนี้ (18 กรกฎาคม) ขณะกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเตือนภัยสภาพอากาศระดับสีแดงในเมืองหลัก 20 แห่งจากทั้งหมด 27 แห่งของประเทศ แถมยังมีคาดการณ์อีกด้วยว่าทางการอาจปรับตัวเลขเมืองระดับสีแดงเพิ่มขึ้นเป็น 23 แห่งในวันนี้ (19 กรกฎาคม)

 

มาดูที่กรีซกันบ้าง เจ้าหน้าที่ได้กล่าวเตือนประชาชนที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่เกิดไฟป่าใหญ่ในเดอร์วีโนโคเรีย (Dervenochoria) ห่างจากกรุงเอเธนส์ไปทางเหนือราว 30 กิโลเมตร ให้ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สูดดมควันพิษจากไฟป่า

 

เพตเตอรี ทาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า “เหตุสภาพอากาศสุดขั้วซึ่งเกิดถี่มากขึ้นเมื่อโลกของเราร้อนขึ้นกว่า กำลังสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ การเกษตร พลังงาน และแหล่งน้ำ

 

“สิ่งนี้ย้ำเตือนให้เห็นว่ามนุษย์ควรเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

ปักกิ่งระอุ ทำสถิติร้อนเกิน 35 องศาเซลเซียสต่อกัน 27 วัน

 

กรุงปักกิ่งของจีนสร้างสถิติใหม่ (ที่ไม่ใช่เรื่องดีนัก) เมื่อจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสในรอบปีขึ้นมาแตะที่ระดับ 27 วัน หลังคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมทั่วมหานคร ทำลายสถิติเก่าที่ทำไว้ 26 วัน ในปี 2000 และหากดูข้อมูลย้อนไปตั้งแต่ปี 1990-2020 จำนวนเฉลี่ยของวันที่มีอุณหภูมิเกิน 35 องศาเซลเซียสต่อปีนั้นอยู่ที่ 10.6 วัน

 

ณ เวลา 00.20 น. ของเมื่อคืนนี้ อุณหภูมิที่วัดโดยสถานีตรวจอากาศมาตรฐานของปักกิ่งในเขตชานเมืองทางใต้ได้อยู่ที่ 35.1 องศาเซลเซียส

 

หากคิดว่าอุณหภูมิของปักกิ่งนั้นร้อนแรงแล้ว ต้องบอกเลยว่านี่แค่ ‘เบาๆ’ หากเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยในเมืองซานเปา (Sanbao) อุณหภูมิทะยานถึง 52.2 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

 

สหรัฐฯ หันหน้าหารือจีน หลังโลกรวนป่วนทั้งโลก

 

อุณหภูมิโลกที่ร้อนจัดซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ได้ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการเปิดการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางรับมือกับภาวะโลกรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์ต่างออกมาพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า เป้าหมายของการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมนั้นเริ่มหลุดลอยไกลออกไปทุกที

 

จอห์น เคอร์รี (John Kerry) ทูตด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าพบปะกับ เซี่ยเจิ้นหัว (Xie Zhenhua) ผู้แทนด้านสภาพอากาศจากจีน พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองชาติผนึกกำลังกันเพื่อเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซมีเทนและพลังงานจากถ่านหิน โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนและสหรัฐฯ รวมกันนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 40% ของการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั่วโลก

 

“ตลอดช่วงสามวันของการประชุม เราหวังว่าเราจะสามารถเริ่มดำเนินการครั้งใหญ่เพื่อส่งสัญญาณไปทั่วโลกเกี่ยวกับความตั้งใจจริงของจีนและสหรัฐฯ ที่จะจัดการกับความเสี่ยง ภัยคุกคาม และความท้าทายที่เราทุกฝ่ายประสบร่วมกัน และเป็นภัยที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เองทั้งสิ้น” เคอร์รีกล่าว

 

“มันเป็นสิ่งเลวร้ายต่อทั้งชาวจีน ชาวอเมริกัน และต่อประชากรของทุกประเทศบนโลกใบนี้”

 

ภาพ: Remo Casilli / REUTERS

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising