×

แบงก์ชาติห่วงแรงงานในภาคการผลิต หลังการจ้างงานต่ำลงชัดเจน เสี่ยงฟื้นตัวยาก

27.06.2024
  • LOADING...
การจ้างงาน และ แรงงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ห่วงการจ้างงานในภาคการผลิตต่ำลงชัดเจน เสี่ยงฟื้นตัวยากสุด เมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคส่วนอื่นๆ เหตุกำลังเผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 โดยระบุว่า แม้การจ้างงานโดยรวม (จากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33) มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น นำโดยการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในบางภาคส่วน (Sector) ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ยาก โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิต (Manufacturing) เนื่องมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยเชิงวัฏจักร

 

ปราณียังกล่าวว่า ภาคการผลิตที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง (ซึ่งประกอบด้วยสาขาการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตปิโตรเคมี การผลิตโลหะขั้นพื้นฐาน และการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) มีการจ้างงาน ‘ลดต่ำลงอย่างชัดเจน’ และอาจฟื้นตัวได้ยาก หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้

 

“จากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่า หลายรายมีการปรับตัว โดยหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง (High Value Product) เพิ่มขึ้น เพื่อหนีตลาดที่ต้องแข่งกับจีน แต่บางรายที่ไม่สามารถปรับไลน์การผลิตได้ ก็พยายามปรับตัวโดยการลดต้นทุน” ปราณีกล่าว

 

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า “แม้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในภาคการส่งออกและการผลิตบางหมวด แต่กลุ่มที่ยังหดตัวคือกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถด้านการแข่งขัน เช่น เครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากต้นทุนแข่งขันไม่ได้ และมีสินค้าจากจีนทะลักมา ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนเปิด-ปิดโรงงาน และปิโตรเคมี ความต้องการจากจีนชะลอลง”

 

แรงงาน 6.3 ล้านคน ‘เสี่ยง’ ฟื้นตัวได้ยาก

 

ปราณียังเตือนว่า จำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานราว 40 ล้านคน มีแรงงาน 6.3 ล้านคนอยู่ในภาคการผลิตที่กำลังเผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

โดยจากสัดส่วนจำนวนผู้มีงานทำรายสาขา ณ ปี 2566 ทั้งหมดราว 40 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในภาคการผลิตที่เผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักรและอื่นๆ 5.4 ล้านคน และแรงงานในภาคการผลิตที่เผชิญปัจจัยเชิงโครงสร้าง 9 แสนคน

 

นอกจากนี้ ความเปราะบางดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะ Spillover ไปสู่ภาคบริการบางส่วน ตัวอย่างเช่น ร้านค้าที่มีอยู่โดยรอบโรงงานก็อาจซบเซาไปด้วย

 

ปราณีกล่าวอีกว่า ยังต้องติดตามพัฒนาการการปรับโครงสร้างการผลิตของโรงงานต่างๆ และทักษะแรงงาน ต้องมีการปรับควบคู่กันไป เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising