×

สัญญาณเริ่มชัด! ภาคการผลิตทั่วเอเชียชะลอตัว เพิ่มความกังวลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมากขึ้น

05.07.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลกถดถอย

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในห้วงเวลานี้มีปัจจัยลบกดดันให้ล่วงเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มมากขึ้น เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากหลายบริษัทในภูมิภาคได้รับผลกระทบจากการที่จีนใช้ภาวะล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด จนเกิดปัญหาหยุดชะงักในระบบห่วงโซ่อุปทาน ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้วในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

 

ทั้งนี้ แม้ว่าความเคลื่อนไหวในภาคการผลิตจีนจะสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งในเดือนมิถุนายน แต่การชะลอตัวของภาคการผลิตในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กับการหดตัวของภาคการผลิตในไต้หวัน ได้ตอกย้ำถึงความตึงเครียดจากการหยุดชะงักของอุปทาน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนวัสดุหรือวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง

 

โดยกิจกรรมการผลิตของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 13 เดือนในเดือนมิถุนายน อันเป็นผลจากการยกเลิกการล็อกดาวน์จากโควิด ทำให้โรงงานต่างๆ เร่งแข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการที่แข็งแกร่ง อีกทั้งการคลายล็อกดาวน์ของจีนสามารถบรรเทาอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทาน และอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตรายอื่นๆ กลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหลังจากประสบปัญหาการหยุดชะงักอย่างรุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกโรงเตือนถึงความปั่นป่วนครั้งใหม่ท่ามกลางความกลัวของตลาดที่กำลังเติบโตว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อย่างจริงจังเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จะผลักดันให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้อุปสงค์ทั่วโลกลดลง

 

นอกจากนี้การที่หลายประเทศทั่วโลกหันมายกระดับนโยบายการเงินให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้นท่ามกลางแรงกดดันด้านราคาผู้บริโภคที่ร้อนแรง ได้จุดชนวนความกลัวว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำอย่างรุนแรงและทำให้ตลาดการเงินสั่นสะเทือนในเร็ววัน

 

Yoshiki Shinke หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย Dai-ichi Life ของญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้จะมีความหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวหลังจากช่วงที่อ่อนแอ แต่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน กลับไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับจีน อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปก็มีแนวโน้มชะลอตัวยิ่งขึ้น บวกกับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยไม่แน่นอนมากมาย ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่อยู่ในภาวะที่สดใสสักเท่าไรนัก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยชัดเจนขึ้น

 

ในส่วนของญี่ปุ่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ au Jibun Bank Japan Manufacturing ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 52.7 ในเดือนมิถุนายน จาก 53.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี S&P Global PMI ของเกาหลีใต้ ก็ลดลงมาอยู่ที่ 51.3 ในเดือนมิถุนายน จาก 51.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองเนื่องจากแรงฉุดจากข้อจำกัดด้านอุปทานและการประท้วงหยุดงานของคนขับรถบรรทุกในเดือนมิถุนายน

 

นอกจากนี้จากรายงานอีกชุดหนึ่งชี้ว่า ภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของการค้าโลก เนื่องจากผู้ผลิตเกาหลีใต้มีตำแหน่งอยู่ในหลายส่วนของห่วงโซ่อุปทานโลก สะท้อนสัญญาณเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 19 เดือน เมื่อเดือนมิถุนายน

 

ขณะเดียวกัน ดัชนี S&P Global PMI ของไต้หวันลดลงเหลือ 49.8 ในเดือนมิถุนายน จาก 50.0 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ของเวียดนามลดลงเหลือ 54.0 ในเดือนมิถุนายน จาก 54.7 ในเดือนก่อนหน้า

 

ผลลัพธ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการล็อกดาวน์ในจีนได้ส่งผลกระทบกับโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างรายงานว่าผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว

 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์เตือนว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะมีสัญญาณขยายตัวโตที่ดีเห็นได้จากดัชนี Caixin/Markit Manufacturing PMI ของจีน เพิ่มขึ้นเป็น 51.7 ในเดือนมิถุนายน จาก 48.1 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนตัวและความกังวลว่าไวรัสจะกลับมาระบาดระลอกใหม่ ก็ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังไม่อาจวางใจได้

 

ขณะที่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งฝันร้ายในหน้าประวัติศาสตร์ของศรีลังกาที่สถานการณ์ด้านพลังงานทวีความตึงเครียดถึงขีดสุด ถึงขนาดที่ Kanchana Wijesekera รัฐมนตรีพลังงานของศรีลังกา ประกาศว่า คลังน้ำมันของศรีลังกามีปริมาณน้ำมันสำหรับการใช้ทั่วประเทศน้อยกว่าหนึ่งวัน ทำให้จำเป็นต้องสั่งให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดชะงักลง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศทวีความรุนแรงขึ้น

 

Kanchana เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศศรีลังกาอยู่ที่ประมาณ 4,000 ตัน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่ต้องใช้ในการบริโภคสำหรับหนึ่งวัน ก่อนที่น้ำมันจัดส่งล็อตใหม่จะมาถึงในวันที่ 22-23 กรกฎาคมนี้

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของศรีลังกาไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ขาดแคลนน้ำมันที่เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาในการเร่งหาเงินให้ได้ตามเป้าเพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำมันที่รอการนำเข้ามาอยู่

 

รัฐมนตรีพลังงานของศรีลังกาเปิดเผยอีกว่า รัฐบาลขณะนี้มีน้ำมันดีเซลเพียง 12,774 ตัน และน้ำมันเบนซินจำนวน 4,061 ตัน เหลืออยู่ในคลัง และสัปดาห์นี้เราต้องการเงินอีก 316 ล้านดอลลาร์ เพื่อจ่ายค่าน้ำมันล็อตใหม่

 

รายงานระบุว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ปิดทำการในวันอาทิตย์ โดยสถานการณ์คาดว่าจะแย่ลงเมื่อธนาคารและสำนักงานเปิดอีกครั้งในวันจันทร์นี้

 

การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพื่อเป็นเงินทุนแม้กระทั่งการนำเข้าที่สำคัญที่สุดได้นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศศรีลังกา โดยมีประชากรทั่วประเทศราว 22 ล้านคน เผชิญกับความยากลำบากอย่างหนักทุกวัน และต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์และไฟฟ้าดับเป็นเวลานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

 

ศรีลังกาขณะนี้ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์และไฟฟ้าดับเป็นเวลานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีการสั่งปิดสถาบันและโรงเรียนของรัฐที่ไม่จำเป็นทั้งหมดจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม เพื่อลดการเดินทางและประหยัดพลังงาน

 

ขณะนี้ศรีลังกากำลังเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อขอเงินช่วยเหลือ หลังจากที่ประเทศผิดนัดชำระหนี้ในต่างแดน 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน

 

ทั้งนี้ ภาวะขาดแคลนน้ำมันดีเซลและเบนซินอย่างรุนแรงทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องประกาศปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขอให้ลูกจ้างรัฐทำงานจากบ้านแทน พร้อมสั่งจำกัดการใช้น้ำมันของรัฐ โดยให้จำกัดอยู่แค่การให้บริการที่มีความจำเป็นทุกอย่างด้วย

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising