×

ป่าชายเลนคาร์บอนเครดิต โอกาสที่มาพร้อมกับความกังวล

โดย Dialogue Earth
22.10.2024
  • LOADING...
ป่าชายเลน

ไทยเตรียมนำ ป่าชายเลน 5 แสนไร่เข้าตลาดคาร์บอน ท่ามกลางความกังวลของชุมชนถึงผลกระทบ

 

วัชรา คุ้มภัย หรือที่คนแถวนั้นเรียกกันติดปากว่า ‘โกลา’​ (‘โก’ ในภาษาจีนแปลว่าพี่ชาย) มักสวมรองเท้าบู๊ตเกือบตลอดเวลา ย่ำเท้าบนเลนชื้นแฉะในป่าชายเลนภาคใต้ แทรกตัวผ่านรากอากาศของต้นโกงกางที่กางขาเก้งก้างเหมือนกับหนวดหมึก

 

เขาเคยเป็นเสมียนบริษัทเหมืองดีบุก พ่วงหารายได้เสริมด้วยการเป็นพ่อค้าคนกลาง รับบริการจัดหาไม้ป่าชายเลนไปทำใช้ประโยชน์​ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวการตัดไม้ทำลายป่าในระนอง จนกระทั่งปี 2534 ประเทศไทยยกเลิกสัมปทานการทำเหมืองและฟืนในป่าชายเลน วันนี้ชายร่างเล็กอายุ 68 ปี ทุ่มเทเวลาฟื้นฟูปกป้องระบบนิเวศอันสำคัญแห่งนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตั้งไว้ว่าจะพลิกฟื้นผืนป่าชายเลน 5 แสนไร่ เพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตให้ได้ภายในปี 2574

 

มีนาคม 2566 ตำบลบางริ้น บ้านของโกลา เข้าร่วมโครงการ ‘ป่าชายเลนคาร์บอนเครดิตชุมชน’ นับเป็นหนึ่งในชุมชนกลุ่มแรกจากทั้งหมด 98 แห่ง กลุ่มอนุรักษ์ตำบลบางริ้นดูแลป่าชายเลนที่กระจายตัวอยู่ใน 3 หมู่บ้าน โดยขึ้นทะเบียนพื้นที่ 1,881 ไร่ในโครงการคาร์บอนเครดิต

 

“โครงการถือว่าดี เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ได้เงินอะไรจากการอนุรักษ์ป่า ตอนนี้ก็ได้เงินมาทำงาน” โกลาว่า

 

เมืองไทยเปิดให้สัมปทานป่าชายเลนกว่า 30 ปี ต้นโกงกางถูกตัดไปทำฟืนใช้หุงต้ม ป่าชายเลนถูกถางเพื่อเปิดพื้นที่ทำเหมืองดีบุกกับนากุ้ง หลังจากรัฐบาลยกเลิกสัมปทาน โกลาและชาวบ้านในพื้นที่รอบข้างจึงเริ่มเพาะต้นกล้าและปลูกป่า

 

ทว่าห่างออกไปเพียง 60 กิโลเมตร รัฐบาลไทยกำลังเตรียมสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ชายฝั่งอันดามัน ท่าเรือจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ 6 เลน ระยะทาง 90 กิโลเมตร ที่ทอดตัวไปถึงท่าเรือน้ำลึกอีกฟากของชายฝั่งอ่าวไทย โครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นเส้นทางขนสินค้าที่ย่นระยะทางการขนส่งทางทะเลเดิม ซึ่งต้องอ้อมผ่านแหลมมะละกา นับเป็นกุญแจชิ้นสำคัญของรัฐบาลไทยที่จะเปลี่ยนภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม

 

นักอนุรักษ์จำนวนหนึ่งกังวลว่า แผนฟื้นฟูป่าชายเลนรวมถึงภาคใต้จะถูกบริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ปรับแต่งใช้เป็นส่วนหนึ่งในการฟอกเขียวธุรกิจและสร้างภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบช่วยลดโลกร้อนแล้ว แต่ว่ากระบวนการผลิตที่ปล่อยมลพิษยังดำเนินไปเช่นเดิม

 

ระหว่างที่ทั่วโลกกำลังมีกระแสเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองไทย หลายคนก็ไม่แน่ใจในประสิทธิภาพตลาดคาร์บอนเครดิตนัก ว่าจะสร้างแรงจูงใจให้บรรดาธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้มากน้อยแค่ไหน

 

ป่าชายเลนเพื่อตลาดคาร์บอน

 

ประเทศไทยเริ่มดำเนินการตลาดคาร์บอนเพื่อซื้อ-ขายในประเทศ โดยเป็นภาคสมัครใจเมื่อปี 2558 เป็นปีเดียวกันกับที่นานาชาติลงนามรับข้อตกลงปารีส เพื่อหาทางซื้อ-ขายคาร์บอนระหว่างประเทศ

 

แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็หาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่ง 6 ปีต่อมา การประชุมสุดยอดผู้นำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สรุปแนวปฏิบัติของข้อตกลงปารีส เพื่อกำหนดแนวทางซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตข้ามประเทศ ในเวทีประชุมเดียวกันนี้ ประเทศไทยยังประกาศเป้าหมายว่าจะบรรลุ Net Zero (การปล่อยและหักลบก๊าซเรือนกระจกสมดุลกันพอดีเหลือศูนย์) ในปี 2608

 

ตามนโยบายปัจจุบัน ป่าจะเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยพาไทยให้ไปถึงฝัน โดยคาดว่าจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 120 ล้านตันภายในปี 2580 งานวิจัยหลายชิ้นยังเผยว่า ป่าชายเลนมีศักยภาพดูดซับ CO2 มากกว่าป่าบกเขตร้อน 3-5 เท่า ป่าชายเลนซึ่งพบมากตามชายฝั่งทะเลใต้จึงเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนสำคัญของไทย

 

“ป่าชายเลนเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบ้านเรา แถมยังขยายออกได้เรื่อยๆ ขณะที่ป่าบกมีพื้นที่จำกัด” ดร.ชวลิต เจริญพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “ป่าชายเลนจะกักเก็บคาร์บอนไว้ในลำต้นและดินตะกอน” เขาเสริมว่า “พูดได้ว่าประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในบลูคาร์บอน”

 

ป่าชายเลน

พื้นที่ป่าในตำบลบางริ้นใกล้กับผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่สำคัญ โดยป่าเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ความมุ่งหวังของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ภาพ: ลูค ดุกเกิลบี / Luke Duggleby 

 

ปี 2565 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดตัวโครงการปลูก ป่าชายเลน โดยเชิญชวนให้บริษัทเอกชน ซึ่งรวมถึงบริษัทด้านปิโตรเลียม มาร่วมลงทุนปลูกกล้าและดูแลป่าเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต ปีถัดมา ทช. นำเสนออีกโครงการคือ โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน เพื่อชวนชุมชนชายฝั่งที่เป็นคนด่านหน้าในการดูแลป่าเข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนที่โตเต็มที่แล้วในพื้นที่

 

โครงการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนลงทุนในกระบวนการประเมินคาร์บอนเครดิตและให้ทุนสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ภายในชุมชน แลกกับการที่ชุมชนทำหน้าที่ปกป้องและฟื้นฟู ป่าชายเลน เป็นเวลา 30 ปี โดยได้ค่าตอบแทน 450 บาทต่อไร่ในปีแรก และ 200 บาทต่อไร่ในปีถัดมา

 

เมื่อลองนึกภาพตาม ตัวอย่างเช่น กลุ่มอนุรักษ์บ้านบางริ้นส่งป่าชายเลนเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต 1,881 ไร่ จะได้เงินเฉลี่ยปีละ 391,875 บาท ต่อเนื่อง 30 ปี นอกจากนี้กลุ่มอนุรักษ์ยังได้เงิน 200,000 บาทอีกก้อนหนึ่งตอนเซ็นสัญญา สำหรับใช้ในกิจกรรมพัฒนาชุมชน

 

ป่าชายเลน ในไทย อ้างอิงข้อมูลจาก UNEP-WCMC แผนที่โดย เอมิลี ลางเกอดอ แต่นักอนุรักษ์กล่าวว่า แผนดังกล่าวเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนซึ่งเป็น ‘คนนอก’ เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากป่าชายเลนที่สมบูรณ์อยู่แล้ว เนื่องจากชุมชนดูแลรักษามาหลายปี เพื่อใช้ฟอกเขียว

 

ที่ผ่านมา การปกป้องป่าชายเลนในไทยเป็นภารกิจแห่งความขัดแย้ง ปี 2536 พีระศักดิ์ อดิศรประเสริฐ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ระนอง ถูกยิงเสียชีวิตโดยผู้มีอิทธิพลในท้องที่ ซึ่งบุกรุกป่าเพื่อทำนากุ้ง วันนี้ผืนป่าส่วนที่ได้รับขนานนามว่า ‘ป่าพีระศักดิ์’ ได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของป่าคาร์บอนเครดิตที่บางริ้น

 

ทช. เผยว่า มีชุมชนชายฝั่งสนใจเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สื่อข่าวดูเอกสารสัญญาที่ชุมชนเซ็นกับบริษัทเอกชน พบว่า ชุมชนจะได้ส่วนแบ่งคาร์บอนเครดิตคำนวณจากป่าชายเลนในโครงการ 20% ขณะที่ ทช. จะได้ 10% และบริษัทเอกชนจะได้ส่วนที่เหลือ 70%

 

ชวลิตร นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เผยว่า การประเมินและติดตามการดูดซับคาร์บอนยังเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องใช้องค์ความรู้ทางเทคนิค แต่เขาเชื่อว่า ผู้เชี่ยวชาญและภาครัฐสามารถช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนเหล่านี้ได้มากขึ้น

 

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี ทช. เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชายเลนขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 215,348 ไร่ โครงการกำลังดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้เป็นสกุลสำหรับหักลบการปล่อยก๊าซและแลกเปลี่ยน ระหว่างนี้ ทช. เพิ่มเป้าหมายนำป่าชายเลนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 2 เท่า

 

สัดส่วนใช้ป่าที่เป็นธรรม

 

มือขยับเร่งเครื่องยนต์เรือแข่งกับเวลาน้ำลด บ่าว นิ่งระวี ออกไปเก็บลอบดักปูที่วางดักไว้วันก่อนในป่าชายเลนบ้านท่าฉาง จังหวัดระนอง ชายหนุ่มร่างผอมหาปูดำจากป่าชายเลนส่งขายเลี้ยงลูก 4 คน ซึ่งต่างไม่มีสัญชาติไทยเหมือนกับผู้เป็นพ่อ ครอบครัวบ่าวเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ เช่น งานที่ระบุว่าต้องมีบัตรประชาชน บ่าวไม่มีทางเลือกทำมาหากินมาก นอกจากดักปูขาย

 

กับดักทรงสี่เหลี่ยมที่คลุมด้วยตาข่ายว่างเปล่า แต่บ่าวบอกว่า ถึงงานจะหนัก รายได้ไม่แน่นอน เขาก็พอใจ เพราะหักค่าน้ำมันแล้วยังได้เงินประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน มากกว่าไปรับจ้างก่อสร้างที่ได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ

 

บ่าว นิ่งระวี แทรกตัวผ่านโคลนลึกเมื่อกระแสน้ำลด เพื่อวางกับดักสำหรับปู ระหว่างรากของต้นโกงกางที่พันกันไปมา 

ภาพ: ลูค ดุกเกิลบี / Luke Duggleby

 

เขาจะกลับมาเก็บกับดักเหล่านี้เมื่อน้ำขึ้นสูง โดยจำตำแหน่งได้อย่างแม่นยำแม้จะไม่มีการทำเครื่องหมายใดๆ 

ภาพ: ลูค ดุกเกิลบี / Luke Duggleby

 

โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชนเพื่อคาร์บอนเครดิตระบุว่า “สมาชิกชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ เก็บหาของป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่”

 

อย่างไรก็ตาม ภาษาอันกำกวมก็ทำให้บ่าวกับใครหลายคนที่อาศัยป่าชายเลนเป็นตู้กับข้าวและวิถีชีวิตอดกังวลไม่ได้ ชาวบ้านหลายคนที่ระนอง ซึ่งห่างจากเมียนมาเพียงนิดเดียว ไม่มีสัญชาติไทย

 

ชาวบ้านบางคนยังคงตัดไม้จากป่าชายเลนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทำส่วนเสริมบ้านหรือทำอุปกรณ์ประมง เช่น ลานตากปลา “ชุมชนพิสูจน์แล้วว่าเราใช้ไม้ตามมิติวัฒนธรรม แต่ป่าไม่หมด” พิเชษฐ์ ปานดำ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ชุมชนในจังหวัดภูเก็ตกล่าว “ถ้าโครงการคาร์บอนเครดิตเข้ามา มันโฟกัสไปที่ตัวต้นไม้ เอาต้นไม้ไปคำนวณคาร์บอนเครดิต พูดง่ายๆ คือเราแตะต้นไม้ไม่ได้แน่ๆ จะกลายเป็นความผิด”

 

เดือนมิถุนายน 2566 พิเชษฐ์เจอชื่อชุมชนบ้านเขา ‘บางโรง จังหวัดภูเก็ต’ ปรากฏอยู่ในรายชื่อชุมชนป่าชายเลนโครงการคาร์บอนเครดิต โดยไม่ได้ปรึกษาหารือล่วงหน้า เขากับสมาชิกชุมชนส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่าการทำป่าชายเลนเป็นสินค้าขึ้นมานั้นจะนำผลด้านลบมาให้ชุมชนอย่างไรบ้าง จึงถอนชื่อออกจากโครงการ

 

ชุมชนหลายพื้นที่ยังกังวลว่า โครงการคาร์บอนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงความขัดแย้งเรื่องที่ดินกับหน่วยงานอนุรักษ์ ประเทศไทยประกาศฟื้นฟูพื้นที่ป่าทั่วประเทศ นำไปสู่ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าโดยภาครัฐ และประกาศเป็นพื้นที่ป่าชายเลนคาร์บอนเครดิตในเวลาต่อมา NGO กล่าวว่า พบกรณีเจ้าของนากุ้งถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนบุกรุกป่าชายเลนและโดนภาครัฐเข้ายึดพื้นที่

 

ฟอกเขียวหรือวิน-วิน?

 

วันนี้รัฐสภาไทยกำลังเตรียมผ่าน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกลไกทางกฎหมายเพื่อรองรับตลาดคาร์บอนเครดิตที่กำลังมาแรง

 

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะรองรับให้คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกเพื่อรับมือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากร่างฉบับล่าสุด บริษัทสามารถใช้เครดิตดังกล่าวหักลบ 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางธุรกิจได้ เป็นการเปิดให้ธุรกิจสามารถซื้อเครดิตได้ หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก​ในกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด

 

แนวทางดังกล่าวจุดไฟการถกเถียงว่า ไทยควรใช้แนวทางลดโลกร้อนแบบอิงกลไกตลาดหรือไม่ อย่างไร ขณะที่ฝ่ายเชียร์เชื่อว่าคาร์บอนเครดิตจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้จริง กลุ่มที่เฝ้าติดตามกลไกนี้เตือนว่าอาจเปิดให้ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ใช้ฟอกเขียว

 

“คาร์บอนเครดิตเป็นการเบี่ยงประเด็นจากการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง” พิเชษฐ์กล่าว เขาเกรงว่ากลไกนี้จะเบี่ยงเบนความรับผิดชอบของธุรกิจ “ถ้าชุมชนเข้าร่วมรูปแบบโครงการฉ้อฉลแบบนี้ นั่นหมายความว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฉ้อฉลนี้ในรูปแบบผู้รับจ้างล้างบาปปลูกต้นไม้”

 

HaRDstories ติดต่อบริษัทเอกชนในโครงการป่าชายเลนชุมชนเพื่อคาร์บอนเครดิตเพื่อสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

 

ร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน มีกำหนดผ่านเข้าสู่การพิจารณาในสภาภายในสิ้นปีนี้ ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาผ่านร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งส่งเสริมโครงการแลนด์บริดจ์และการขยายตัวของอุตสาหกรรมในภาคใต้

 

ปิ่นสักก์ จาก ทช. กล่าวว่า ชุมชนสามารถเลือกได้ว่าสนใจเข้าร่วมโครงการป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตหรือไม่ นอกจากนั้นเขาเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตนั้นให้คุณมากกว่าโทษ

 

“รัฐได้ป่าที่สมบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณ ชุมชนใช้หาสัตว์น้ำได้ และได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่ม เอกชนก็ได้คาร์บอนเครดิต” เขากล่าว “ผมมองว่ามันก็เป็นกลไกที่วิน-วิน”

 

งานข่าวชิ้นนี้ผลิตโดยได้รับการสนับสนุนจาก Pulitzer Center และเผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ Dialogue Earth: https://dialogue.earth/en/nature/thailand-turns-to-mangrove-carbon-credits-despite-scepticism/ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X