×

มัณฑารพ กมลาศน์: หัวหน้านางพยาบาลรุ่นบุกเบิก หม่อมเจ้าผู้ยกระดับวิชาชีพเพื่อมวลชน

16.04.2021
  • LOADING...
มัณฑารพ กมลาศน์: หัวหน้านางพยาบาลรุ่นบุกเบิก หม่อมเจ้าผู้ยกระดับวิชาชีพเพื่อมวลชน

HIGHLIGHTS

  • การก่อตั้งโรงเรียนสตรีของชนชั้นนำในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อผลิตหญิงที่มีความรู้มากพอที่จะไปเป็นภรรยาชนชั้นนำหรือเป็นนางรับใช้หญิงชนชั้นสูงอีกที พวกเธอหลายคนจึงเป็นข้าหลวงที่ถูกส่งไปเรียน ความรู้ของพวกเธอจึงถูกจำกัดอยู่ในนามระบบอุปถัมภ์
  • มัณฑารพ กมลาศน์ เป็นหม่อมเจ้าและข้าหลวงผู้หนึ่งที่ถูกส่งไปเรียนพยาบาลเพื่อกลับมารักษาหญิงชนชั้นสูงในราชสำนัก และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าพยาบาลเป็นอาชีพสำหรับหญิงชั้นสูง
  • ในโลกชายเป็นใหญ่เชื่อว่าวิชาชีพพยาบาลเป็นความรู้สำหรับผู้หญิง การพยาบาลคนเจ็บไข้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะทำได้ดีและเรียบร้อยกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกันอาชีพนี้ก็ถูกมองว่าเป็นอาชีพต่ำ รับจ้างทั่วไปคอยดูแลคนเจ็บป่วย ไม่ได้เรียนตามหลักวิชา
  • มัณฑารพ กมลาศน์ เป็นหนึ่งในกลุ่มนางพยาบาลที่พยายามยกระดับความรู้และสถานะนางพยาบาล ด้วยสถานภาพทางสังคมที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเธอได้รับตำแหน่งหัวหน้าด้านการพยาบาล ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนางพยาบาล และใช้โอกาสนี้พัฒนาแวดวงวิชาการเท่าที่เธอพอจะทำได้

เมื่อราชสำนักรัชกาลที่ 5 ไล่ตามความศิวิไลซ์

การเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 นำไปสู่การก่อตั้งโรงเรียนสตรีสุนันทาลัยภายในวัง เพื่ออบรมสอนบรรดาหญิงผู้ดีลูกท่านหลานเธอ ลูกสาวข้าราชการขุนนางให้มีความรู้สมัยใหม่แบบตะวันตก มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีมารยาทธรรมเนียมตะวันตก คำนวณเลขคณิต รู้ภูมิศาสตร์ พงศาวดาร และวิชาแม่บ้านการครัว ทว่าโรงเรียนก็ไม่ได้ตั้งใจผลิตผู้หญิงป้อนเข้าสู่ระบบราชการ หากแต่ตั้งใจผลิตหญิงมีความรู้สมัยใหม่เพื่อเป็นภรรยาชนชั้นนำชายหรือเป็นนางรับใช้หญิงชนชั้นสูงอีกที

 

ดังนั้นเมื่อนักเรียนสตรีสุนันทาลัยสามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อเรียนต่อต่างประเทศได้สำเร็จ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเรียนต่างประเทศเหมือนผู้ชายที่สอบได้ 

 

หนึ่งในนักเรียนหญิงที่สอบได้ใน พ.ศ. 2441 แต่ไม่ได้ไปต่อคือ หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ แต่ก็ได้รับเงินปลอบใจแทนจำนวน 1,600 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่าผู้อื่น เพราะจำนวนเงินรางวัลมากน้อยตามระดับชนชั้นผู้รับ มีหญิงสามัญชนที่สอบได้เหมือนกันแต่ได้รางวัลปลอบใจเพียง 80 บาท

 

ชีวิตใต้ร่มระบบอุปถัมภ์ของมัณฑารพ กมลาศน์

หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2425 เป็นธิดากรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรกับหม่อมวาศน์ กมลาศน์ ณ อยุธยา เธอมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของรัชกาลที่ 4 และได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในการอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ราชินีในรัชกาลที่ 5 (ต่อมาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เมื่อเรียนจบสุนันทาลัยก็มาเป็นอาจารย์สอนหญิงชนชั้นสูงภายในวัง และได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีชั่วคราว ต่อมาเธอเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งเป็นสองโรงเรียนสตรีที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้น

 

ชีวิตของ มัณฑารพ กมลาศน์ เข้ามาสู่วงการพยาบาลเมื่อ พ.ศ. 2461 เพราะถูกส่งไปเรียนโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาด หลักสูตร 1 ปี ตามคำสั่งของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องจากหญิงชนชั้นสูงต่างก็ต้องการให้ข้าหลวงของตนมีความรู้ทางการแพทย์พยาบาลสมัยใหม่มารับใช้ดูแลด้านสุขภาพอนามัยตนเองยามป่วยไข้

 

ผู้หญิงเมื่อแรกมีการพยาบาลและการแพทย์สมัยใหม่

เดิมทีการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐราชสำนักและเริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ. 2423 ใช้รักษาเฉพาะทหารที่เจ็บป่วยเท่านั้น กระทั่งเริ่มมีกิจการโรงพยาบาลศิริราชที่รักษาราษฎรใน พ.ศ. 2429 จากนั้นจึงเริ่มมีโรงเรียนแพทย์ และ ‘โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์ แลการพยาบาลไข้’ ใน พ.ศ. 2439 และเมื่อมีการจัดตั้งสุขาภิบาลตามมณฑลต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2448 ก็ขยายอาชีพนางพยาบาลให้ไปรักษาพยาบาลคนไข้ตามบ้าน ทำงานในสถานีอนามัย สอนสุขวิทยาตามโรงเรียน ต่อมาอีกหลายปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็เปิดหลักสูตรนางพยาบาลของสภากาชาดสยามเมื่อ พ.ศ. 2457 ด้วยสำนึกคิดที่เชื่อมโยงวิชาชีพพยาบาลกับ ‘ความเป็นหญิง’ ที่ต้องปรนนิบัติ บริการ ดูแล สมาชิกในครอบครัวว่า

 

“การพยาบาลคนเจ็บไข้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงโดยเฉพาะ และผู้หญิงทำได้สนิทเรียบร้อยดีกว่าผู้ชายทำ เพราะฉะนั้นคนพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วไปในโลก จึงต้องเป็นผู้หญิง ผู้ชายเป็นแต่ผู้ช่วยในสิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรกระทำ”

 

แต่เนื่องจากโรงเรียนวิชาชีพพยาบาลสอนวิชางานบ้านงานเรือน ดูแลเด็ก ทำอาหาร เย็บปักถักร้อยเหมือนโรงเรียนสตรีทั่วๆ ไปด้วย แต่เพิ่มเติมวิชาพยาบาล อนามัย การดูแลเด็ก การดูแลคน การผดุงครรภ์ นักเรียนที่จบออกไปส่วนมากก็หันมาประกอบอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อผ้าแทน เพราะงานผดุงครรภ์และนางพยาบาลเป็นงานหนักแต่รายได้ต่ำ หญิงสามัญชนที่เข้าเรียนโรงเรียนวิชาชีพนี้ก็ไม่ได้สนใจในอาชีพพยาบาลจริงๆ หากแต่เป็นหนทางในการจะได้รับการศึกษาสูงขึ้น เพราะเป็นโรงเรียนที่สมัครเข้าได้ง่าย

 

ขณะเดียวกันในช่วงแรกมีอาชีพนางพยาบาลนั้นก็ถูกมองว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำ รับจ้างทั่วไปคอยดูแลคนเจ็บป่วย ไม่ได้เรียนตามหลักวิชา อธิบดีกรมสาธารณสุขในขณะนั้นจึงปรับปรุงความรู้และนิยามนางพยาบาลว่าเป็นผู้ช่วยแพทย์ เกลี้ยกล่อมโฆษณาให้ลูกสาวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และหญิงชนชั้นสูง (ซึ่งก็ได้เลือกหญิงชนชั้นสูงระดับหม่อมเจ้าที่ถือว่าเป็นเจ้าระดับล่างสุด) มาสมัครเรียนวิชาพยาบาลเพื่อเป็นตัวอย่างให้เกิดความนิยมแก่คนทั่วไป

 

จากข้ารับใช้ราชสำนักสู่บุคคลสาธารณะผู้มีคุณูปการแก่มวลชน

เมื่อมัณฑารพเข้ามาในวงการนางพยาบาลก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองโรงเรียนพยาบาล ทำหน้าที่ทั้งควบคุมระบบการศึกษาการเรียนการสอนและการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาด ในระหว่างนี้เธอได้จัดระเบียบมาตรฐานความรู้พยาบาลเพื่อยกระดับให้เทียบเท่าสมัยใหม่สากล

 

เมื่อเริ่มมีอาชีพพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการรวมตัวก่อตั้งเป็น ‘สมาคมนางพยาบาลแห่งกรุงสยาม’ ใน พ.ศ. 2470 กลายเป็นสมาคมวิชาชีพสตรีแห่งแรกของประเทศ เพื่อสร้างสวัสดิการ ปกป้องสิทธิ และยกระดับอาชีพ รวมทั้งจัดกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่ง มัณฑารพ กมลาศน์ หัวหน้าพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม และต่อมาใน พ.ศ. 2474 เธอได้ให้พิมพ์วารสาร ‘จดหมายเหตุสมาคมนางพยาบาลไทย’ และเป็นบรรณาธิการเอง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้วิชาชีพพยาบาลและเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพพยาบาล

 

บทบาทสำคัญและกรณียกิจต่อวงการพยาบาลของ มัณฑารพ กมลาศน์ เป็นผลพลอยได้อย่างไม่ตั้งใจของระบบอุปถัมภ์และศักดินาสวามิภักดิ์ ที่ชนชั้นเจ้าอยู่ในสถานะ ‘เจ้าชีวิต’ สามารถกำกับชีวิตของผู้อื่นได้ว่าจะต้องเป็นหรือทำหน้าที่อะไร รับใช้ใครในกิจการด้านใด ซึ่งชีวิตและโอกาสของมัณฑารพก็ถูกอุปถัมภ์และตัดสินใจแทนโดยชนชั้นสูงมาตลอด แม้เธอจะสอบชิงทุนหลวงไปเรียนต่างประเทศได้คะแนนอันดับ 1 แต่ก็ต้องเสียโอกาสทางการศึกษามารับใช้หญิงชนชั้นสูงกว่า และถูกกำหนดให้ต้องทำหน้าที่ตามความต้องการส่วนบุคคลของเจ้าชีวิต

 

อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นเจ้าชีวิตของเธอ เธอก็ใช้ความรู้ความสามารถ สถานะทางสังคม และตำแหน่งแห่งที่ที่มีสร้างสาธารณประโยชน์แทน กลายเป็นหญิงคนแรกๆ ที่เข้ามาทำงานและสร้างความรู้ด้านพยาบาลอันเป็นอาชีพใหม่สำหรับผู้หญิงแห่งยุคสมัย 

 

เพราะก่อนหน้านั้นอาชีพและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์สมัยใหม่ผูกขาดกับผู้ชาย และได้กลายเป็นอีกผู้หนึ่งที่ช่วยยกระดับจัดระเบียบวงการพยาบาลในเวลาต่อมา ท่ามกลางหญิงจำนวนมากที่เริ่มประกอบอาชีพนางพยาบาลก็อุทิศตัวเพื่อสาธารณประโยชน์และสาธารณสุขเช่นกัน แต่เพราะทำงานให้สภากาชาดที่เป็นสถาบันสังคมสงเคราะห์เก่าแก่ของหญิงชนชั้นสูง และด้วยสถานะหม่อมเจ้าของเธอแต่ประกอบอาชีพพยาบาล ทำงานบริการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก เธอจึงโดดเด่นและถูกกล่าวขวัญชื่นชมมากกว่านางพยาบาลสามัญชนคนอื่นที่ทำงานและอุทิศตัวเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามมัณฑารพมีอายุเพียง 46 ปี เธอเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ จึงลาออกจากราชการพยาบาลไปรักษาตัว แต่อาการก็กลับทรุดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และเพื่อระลึกถึง สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย (เดิมคือสมาคมนางพยาบาลแห่งกรุงสยาม) จึงตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เพื่อส่งเสริมทุนทางการศึกษาและวิจัยด้านพยาบาล

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising