เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 พฤษภาคม) เป็นวันที่แฟนฟุตบอลรอคอยในการจะได้ชมเกม ‘แดงเดือด’ หนึ่งในการดวลกันของคู่ปรับตลอดกาลที่ยิ่งใหญ่และน่าจับตามองเสมอ โดยที่แม้บรรยากาศจะไม่คึกคักเหมือนในอดีต แต่ก็ยังความสำคัญต่อทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล ในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาล
แต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นในเวลา 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุการณ์ที่
ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมีภาพของแฟนบอลทีม ‘ปีศาจแดง’ จำนวนนับร้อย บุกเข้าไปถึงพื้นสนามแข่งโอลด์แทรฟฟอร์ด โดยพวกเขามาเพื่อวัตถุประสงค์เดียว
นั่นคือการ ‘ขับไล่’ ตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของสโมสรชาวอเมริกัน ออกไปจากทีมรักของพวกเขา
บรรยากาศการประท้วงในช่วงนั้นไม่ได้ดูน่ากลัวอะไรนัก แม้ว่าท่าทีของแฟนบอลจำนวนหนึ่งจะดุดัน เกรี้ยวกราด แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้โอกาสนี้ในการทำสิ่งที่พวกเขาไม่คิดว่าจะมีโอกาส อย่างการเตะฟุตบอลเล่นในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด โดยใช้ลูกฟุตบอลที่จัดเตรียมไว้ให้สำหรับนักฟุตบอลที่จะลงมาอบอุ่นร่างกาย บ้างก็ปีนขึ้นไปเล่นบนประตู (ก่อนจะโดนบอลเตะอัดตาข่ายร่วงตกลงมาบนพื้น)
บ้างหอบเอาเสาธงที่มุมสนามติดไม้ติดมือเป็นของฝาก และบางคนขอวาดลวดลายด้วยการโชว์ลีลาตีลังกายิงตุงตาข่ายเป็นที่ระลึกหน้าอัฒจันทร์สเตรทฟอร์ด เอนด์
หลายคนยังเชื่อว่ายังพอมีเวลาที่การแข่งขันจะดำเนินต่อไปตามได้ตามปกติ หรืออาจจะมีความล่าช้าเล็กน้อย
แต่ยิ่งเวลาผ่านไป สถานการณ์ก็ยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ และนำไปสู่การประกาศเลื่อนการแข่งขันในเวลาต่อมา
ท่ามกลางความสับสนมากมาย สิ่งที่หลายคนอยากรู้คือ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในเหตุการณ์นี้ และแรงจูงใจที่ทำให้มีการประท้วงเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่
เหตุการณ์การประท้วงสีเขียว-ทองของยูไนเต็ด
การประท้วงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาราว 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 2 จุดด้วยกัน
จุดแรกคือที่โรงแรม Lowry ซึ่งเป็นโรงแรมที่นักฟุตบอลแมนฯ ยูไนเต็ด จะมาพักด้วยกันในคืนก่อนวันแข่งขัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีแฟนฟุตบอลจำนวนหนึ่งที่มาประท้วงเจ้าของสโมสร
แฟนบอลกลุ่มนี้ได้ปิดทางเข้าและออกของโรงแรม รวมถึงทางขึ้นรถเอาไว้ ทำให้นักฟุตบอลไม่สามารถที่จะเดินทางออกมาขึ้นรถโค้ช 2 คัน เพื่อจะเดินทางไปที่สนามได้
ในการประท้วงมีการกู่ร้องตะโกนทั้งเชิดชูสโมสร นักฟุตบอล และ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ในเวลาเดียวกันก็ตะโกนด่าทอตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของสโมสรที่พวกเขาชิงชัง โดยมีการจุดพลุควัน ทำให้บรรยากาศมาคุขึ้นอย่างมากด้วย
พลุควันดังกล่าวไม่ได้ปรากฏที่โรงแรม Lowry เพียงที่เดียว หากแต่ที่บริเวณใกล้สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดก็มีแฟนบอลอีกนับพันคนที่มารวมตัวกัน ‘ตามการนัดหมาย’ ก่อนหน้านี้ และมีการจุดพลุควันปลุกเร้าบรรยากาศในการต่อสู้
โดยพลุควันนั้นไม่ได้มีแค่สีแดงที่เป็นสีประจำสโมสร หากแต่สีหลักที่ใช้เป็น ‘ธีม’ ในการประท้วงครั้งนี้คือ สีเขียว-ทอง (Green and Gold) อันเป็นสีประจำสโมสรนิวตัน ฮีธ ชื่อเดิมในช่วงก่อตั้งสโมสร เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือรากเหง้าและจิตวิญญาณที่แท้จริงของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
สถานการณ์ที่โอลด์แทรฟฟอร์ดดุเดือดกว่าที่โรงแรมมาก โดยมีการเริ่มฝ่าแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในช่วงเวลา 14.00 น. ก่อนที่จะเริ่มมีการบุกเข้าไปในสนาม เข้าไปถึงอุโมงค์สนาม ขณะที่แฟนบอลบางส่วนเข้าสนามผ่านช่องทางที่เจ้าหน้าที่และสื่อจะใช้เข้า (ทำให้ ไมเคิล โอลิเวอร์ ผู้ตัดสินในเกมนี้ ต้องใช้ทางอื่น) และอีกส่วนที่เข้าสนามผ่านประตูทางออกในยามปกติ ซึ่งในเวลาต่อมามีภาพของแฟนบอลกลุ่มนี้ทำลายประตูกระจกเพื่อเข้าสนาม
นอกจากนี้ยังมีภาพของแฟนบอลที่ทำลายขาตั้งกล้องของทีมสื่อซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และข่าวลือว่ามีการบุกรุกเข้าไปถึงห้องแต่งตัวของนักฟุตบอลด้วย
อย่างไรก็ดี หลังการแสดงพลังสักพัก เมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเริ่มเข้ามาควบคุมสถานการณ์สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงทยอยออกจากพื้นที่สนาม ขณะที่ด้านนอกสนามมีรายงานการปะทะกันระหว่างแฟนบอลกลุ่มเล็กๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
หลังจากที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ในสนามได้ เจ้าหน้าที่สนามได้สำรวจความเสียหายของพื้นสนามหญ้า (ซึ่งปกติเป็นพื้นที่หวงห้ามสูงสุด) และจุดอื่นๆ พบว่าลูกฟุตบอลจำนวนหนึ่งถูกขโมยไป รวมถึงเสามุมธง ทำให้อาจกระทบถึงเกมที่อาจจะแข่งขันไม่ได้
จากนั้นแม้จะมีการประกาศรายชื่อผู้เล่นตัวจริงของทั้งสองทีมออกมา แต่ในเวลาต่อมาก่อนการแข่งขันเริ่มขึ้น ได้มีการประกาศเลื่อนการแข่งออกไปชั่วคราว โดยไม่มีการระบุเวลาในการแข่งขันใหม่ แต่มีการคาดว่าจะเริ่มในเวลา 18.30 น.
น่าเสียดายที่สถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยพอในความเห็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งยังไม่อนุญาตให้นักฟุตบอลเดินทางออกจากโรงแรมที่พักได้ทั้งของแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งพักอยู่ที่โรงแรม Lowry และของลิเวอร์พูล ซึ่งพักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางเมืองแมนเชสเตอร์
ที่สุดแล้ว หลังจากที่นักฟุตบอลไม่สามารถเดินทางมาถึงสนามได้ก่อนกำหนด 90 นาทีตามกฎ หลังจากนั้นไม่นานก็มีแถลงการณ์จากแมนฯ ยูไนเต็ด ประกาศข่าวการเลื่อนการแข่งขันออกไป โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับการแข่งขันใหม่อีกครั้ง
ก่อนที่นักฟุตบอลจะได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากโรงแรมกลับบ้าน รวมถึงนักเตะลิเวอร์พูลที่นั่งรถโค้ชกลับเมืองในเวลาต่อมา
ไม่นานมานี้เคยมีแฟนบอลกลุ่มหนึ่งบุกสนามซ้อมแคร์ริงตันมาแล้ว
16 ปีแห่งความแค้น ต้นเหตุการประท้วงใหญ่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีการเชื่อมโยงว่าสาเหตุเกิดจากความไม่พอใจที่ตระกูลเกลเซอร์ ในฐานะเจ้าของสโมสร ได้เป็น 1 ใน 12 สโมสรที่ประกาศเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลยูโรเปียนซูเปอร์ลีกเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งทำให้สโมสรเสื่อมเสีย ถูกมองในฐานะทีมที่เห็นแก่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยถามความเห็นจากแฟนฟุตบอลเลยแม้แต่น้อย
ก่อนหน้านี้มีการแสดงพลังไปแล้วครั้งหนึ่งด้วยที่ศูนย์ฝึกแคร์ริงตัน เมื่อมีแฟนบอลกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปถึงสนามซ้อมเพื่อประท้วง แต่ได้ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ผู้จัดการทีมที่แฟนบอลให้การยอมรับ เข้ามาพูดคุยด้วย ก่อนที่ทุกคนจะกลับไปอย่างสงบ
แต่ความจริงแล้วการประท้วงครั้งนี้เป็นแค่การ ‘ปะทุ’ ของความโกรธแค้นที่แฟนแมนฯ ยูไนเต็ด มีต่อเจ้าของสโมสรของพวกเขา ที่เข้ามายึดครองสโมสรไปเป็นสมบัติของตัวเอง แต่กลับบริหารจัดการโดยมิชอบทางความรู้สึกของแฟนบอล
ปมร้าวของครอบครัวนักธุรกิจกีฬาชาวอเมริกันกับแฟนเรดอาร์มีเริ่มตั้งแต่ในปี 2005 ที่ตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งนำโดย มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรไปเมื่อปี 2005
แต่การเทคโอเวอร์ครั้งนั้นถูกมองว่าไม่โปร่งใสและเต็มไปด้วยลูกเล่น เพราะ มัลคอล์ม เกลเซอร์ ใช้วิธีการ ‘กู้เงิน’ จำนวน 790 ล้านปอนด์เพื่อมาซื้อหุ้นของสโมสร แต่จากนั้นได้ผลักภาระการชำระดอกเบี้ยมาไว้กับบัญชีของสโมสร
นั่นหมายถึงพวกเขาได้สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาแบบฟรีๆ เงินก็ไม่เสีย หนี้ก็ไม่ต้องจ่าย สโมสรหารายได้เท่าไรก็นำไปชำระทั้งเงินต้นและเงินดอก เหลือก็เก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งมีการประเมินว่า ในเวลาเกือบ 16 ปีที่ผ่านมา เกลเซอร์ได้เงินจากแมนฯ ยูไนเต็ด ไปแล้วกว่า 2 พันล้านปอนด์
การพยายามต่อสู้ของแฟนบอลปีศาจแดงนั้นเริ่มตั้งแต่ต้น และมีการต่อสู้กันเรื่อยมา ทั้งการเดินขบวนประท้วงหรือการประท้วงในสนามด้วยการสวมผ้าพันคอสีเขียว-ทอง
ดังนั้นการลุกฮือในเหตุการณ์เมื่อคืนนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากข่าวการเข้าร่วมยูโรเปียนซูเปอร์ลีกเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความไม่พอใจที่สะสมมาเป็นระยะเวลา 15-16 ปี และถึงเวลาที่จะบันดาลโทสะสักครั้ง เพียงแค่ครั้งนี้อาจจะเล่นกันผิดจังหวะและเลยเถิดไปสักนิด
ทั้งนี้ แฟนบอลเหล่านี้ยืนยันว่า พวกเขา ‘พร้อมจะทำแบบนี้ทุกสัปดาห์’ หากมันจะช่วยให้ไล่เจ้าของสโมสรจอมหน้าเลือดกลุ่มนี้ได้ เพราะไม่อาจวางใจได้อีกต่อไป
ส่วนคำขอโทษจาก โจเอล เกลเซอร์ หลังถอนตัวจากซูเปอร์ลีก?
“เราไม่รับคำขอโทษ” พวกเขาบอกชัดเจน
โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ถ่ายภาพร่วมกับ อัฟราม เกลเซอร์ (ขวามือ) หนึ่งในพี่น้องเกลเซอร์ เจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ผลของการกระทำ?
สำหรับเกมแดงเดือดที่ถูกเลื่อนออกไปนั้น แฟนปีศาจแดงสบายใจได้ว่าตามกฎของฟุตบอลอังกฤษไม่มีการบัญญัติบทลงโทษเอาไว้ในกรณีแบบนี้ โดยมีเพียงการระบุเอาไว้ว่า หากกรณีที่เกมต้องเลื่อนก่อนจะเริ่มแข่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของสภาพอากาศ สภาพสนาม หรือความปลอดภัย จะมีการกำหนดวันแข่งขันใหม่
ตามแถลงการณ์ของทั้งสองสโมสรรวมถึงพรีเมียร์ลีกก็มีการระบุเอาไว้แค่นั้น ไม่มีการพิจารณาลงโทษด้วยการปรับแพ้หรือตัดแต้มแต่อย่างใด ยกเว้นจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงเป็นกรณีพิเศษในภายหลัง แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศวันแข่งขันใหม่แต่อย่างใด
สำหรับเจ้าของสโมสรอย่างเกลเซอร์ การประท้วงครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรจากการประท้วงคราวก่อนๆ
พวกเขายังมีสิทธิ์เต็มที่ในฐานะเจ้าของสโมสร และไม่มีความจำเป็นจะต้องขายหุ้นออกไปแต่อย่างใด แค่นิ่งไว้ให้เวลาผ่านไปก็พอ
อย่างไรก็ดี ทางด้าน แกรี เนวิลล์ อดีตผู้เล่นระดับตำนานของสโมสร ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่พยายามปลุกเร้าแฟนฟุตบอลให้ลุกขึ้นต่อสู้กับเจ้าของสโมสรที่เห็นแก่เงินมากเกินไป ยังคงพยายามกระตุ้นให้แฟนฟุตบอลอย่าได้ถอดใจและให้ลุกขึ้นสู้ ไม่เฉพาะแฟนปีศาจแดง แต่รวมถึงแฟนหงส์แดงและสโมสรอื่นด้วย
แฟนบอลยูไนเต็ดบางส่วนเชื่อว่า “นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะไล่พวกเกลเซอร์ออกไป”
การลุกฮือเมื่อวานนี้จึงอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น แม้จะไม่มีใครรู้ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ก็ตาม
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/business/2005/may/13/football.uknews
- https://theathletic.com/2562050/2021/05/02/manchester-united-v-liverpool-why-was-the-game-postponed-after-protests/
- https://theathletic.com/news/manchester-united-fan-protest-glazer/gPnzI7lZ0EfN
- https://www.bbc.com/sport/football/56966096