×

เกมซ้อนเกม แมนฯ ซิตี้ ฟ้องพรีเมียร์ลีกเพื่ออะไร?

06.06.2024
  • LOADING...

สะเทือนวงการฟุตบอลอังกฤษพอสมควร เมื่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยื่นฟ้องต่อพรีเมียร์ลีก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเกี่ยวกับกฎของการรับสปอนเซอร์ ซึ่งจะเริ่มต้นการพิจารณาคดีในสัปดาห์หน้า

 

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมทีมที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกติดต่อกันถึง 4 สมัย และเป็นแชมป์ลีก 6 จาก 7 ฤดูกาลหลังสุด จึงตัดสินใจที่จะ ‘วอร์’ กับองค์กรที่พวกเขาอยู่

 

เรื่องนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน เป็นเกมซ้อนเกมที่สุดแยบยลของทีมกฎหมายที่ว่ากันว่าเก่งกาจที่สุดที่แมนฯ ซิตี้ ว่าจ้างมาต่อสู้คดีให้กับพวกเขา

 

โดยเป้าหมายจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของกฎการรับสปอนเซอร์ แต่มากกว่านั้นมาก ซึ่งอาจจะเข้าใจยาก จึงชวนมาอ่านเกมและอ่านใจว่าแมนฯ ซิตี้ จะทำแบบนี้ไปทำไมในบทความนี้

 

กฎ APT ชนวนระเบิดสงครามใหญ่

 

สิ่งที่แมนฯ ซิตี้ ยื่นฟ้องร้องพรีเมียร์ลีก คือสิ่งที่เรียกว่ากฎ ‘Associated Party Transaction’ หรือเรียกสั้นๆ ว่ากฎ ‘APT’

 

กฎนี้คืออะไร แตกต่างจากกฎ Financial Fair Play หรือกฎ Profit and Sustainability อย่างไร

 

APT (ขออนุญาตเรียกสั้นๆ) เป็นกฎที่ว่าด้วยเรื่องของการรับสปอนเซอร์โดยเฉพาะ ซึ่งเริ่มต้นใช้เป็นครั้งแรกในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2021 ไม่กี่เดือนหลังจากที่ทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ถูกกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย (PIF) เทกโอเวอร์สโมสรต่อจาก ไมค์ แอชลีย์ ที่มีการเสนอใช้กฎนี้ในเวลานั้น เพราะมีความกังวลว่านิวคาสเซิลจะกลายเป็นอีกทีมที่มี ‘รัฐ’ ซึ่งมีอำนาจทางการเงินไร้ขีดจำกัดหนุนหลัง และใช้เรื่องนี้ชิงความได้เปรียบเหนือสโมสรอื่นๆ ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่สโมสรผ่านสปอนเซอร์ต่างๆ ที่อยู่ในเครือหรือมีความเชื่อมโยงกับเจ้าของสโมสร

 

กฎนี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับสปอนเซอร์ในข่ายนี้ แต่ต้องมีหลักฐานต่างๆ ที่ชัดเจนว่าเป็นการเข้ามาสนับสนุนสโมสรอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีการเล่นกลทางตัวเลขหรือตกแต่งบัญชี

 

ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมพรีเมียร์ลีกมีการเสนอให้อัปเดตกฎ APT ให้มีความเข้มข้นขึ้นไปอีก ด้วยการกำหนดว่าสปอนเซอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าของสโมสรนั้นๆ จะต้องสัมพันธ์กับมูลค่าทางการตลาดของสโมสรด้วย

 

พรีเมียร์ลีกใช้คำว่า ‘Fair Market Value’ (FMV) หรือมูลค่าตลาดยุติธรรม ซึ่งจะประเมินจากหลายปัจจัย เช่น มูลค่าของสโมสร มูลค่าของแบรนด์ หรือฐานแฟนฟุตบอล โดยมีบริษัท Nielsen Sports ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เป็นผู้ช่วยประเมินให้พรีเมียร์ลีก

 

ยกตัวอย่างเช่น สโมสร A ประเมินแล้วมีมูลค่าตาม FMV อยู่ที่ 10 ล้านปอนด์ แต่สปอนเซอร์อัดฉีดเงินเข้ามาถึง 100 ล้านปอนด์ ถือว่ามีความผิดปกติ แบบนี้ต้องตรวจสอบ

 

การโหวตกฎ APT เวอร์ชัน 2024 กลายเป็นการโหวตที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะตามระเบียบแล้วการจะโหวตเรื่องใดให้ผ่านต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งปกติจะต้องได้ 14 เสียง

 

แต่การโหวตครั้งนี้มีคนเห็นชอบ 12 เสียง ไม่เห็นชอบ 6 เสียง และจุดชี้ขาดคือ มีสโมสรงดออกเสียง 2 เสียง เท่ากับได้ 2 ใน 3 พอดี (12 ต่อ 6) 

แมนฯ ซิตี้ ตอนแรกเริ่มจากการขู่พรีเมียร์ลีกว่าจะมีการดำเนินการฟ้องร้อง ก่อนที่จะฟ้องร้องจริงๆ ไม่กี่วันหลังการโหวต 

 

โดยที่การพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10-21 มิถุนายนนี้ 

 

‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ คำกล่าวหาของแมนฯ ซิตี้

 

กฎ APT (และ FMV) คือสิ่งที่แมนฯ ซิตี้ หยิบมาใช้โจมตีพรีเมียร์ลีก โดยมีการกล่าวหาในหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งในสำนวนความยาว 165 หน้า พอจะสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

 

  • ทำให้สโมสรสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน ไม่สามารถหานักเตะที่เก่งที่สุดมาสู่ทีมได้ เพราะมีโอกาสจะสูญเงินจากสปอนเซอร์เป็นจำนวนมาก
  • สิ่งที่จะส่งผลตามมาคือ แฟนบอลอาจต้องกลายเป็นคนรับภาระที่จะโดนขึ้นค่าตั๋ว หรือตัดงบประมาณทีมเยาวชนและทีมหญิง
  • การตั้งกฎ APT ถือเป็นการกีดกันทุนจากตะวันออกกลาง (Gulf) ไม่ให้เข้ามาแข่งขันในพรีเมียร์ลีก นับเป็นการ ‘เหยียดเชื้อชาติ’
  • พรีเมียร์ลีกไม่เคยตรวจสอบแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตในกรณีคล้ายๆ กัน
  • พรีเมียร์ลีกเองก็หาสปอนเซอร์เหมือนสโมสร และนับเป็น ‘คู่แข่งโดยตรง’ ด้วยซ้ำ
  • ตั้งคำถามถึงการตัดสินเรื่อง FMV ที่ใช้บริษัท Nielsen Sports ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่
  • การใช้มติเสียงข้างมากถือเป็น ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ ไม่ยุติธรรมต่อทีมที่อยู่ในกลุ่มเสียงข้างน้อยที่จะยอมรับเรื่องนี้

 

เป้าหมายของแมนฯ ซิตี้

 

ในคำร้องของแมนฯ​ ซิตี้ พวกเขาต้องการที่จะ ‘ลบ’ กฎ APT นี้ไป เพราะถือว่า ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ (Unlawful) 

ถ้าเป็นเช่นนั้น ผลที่จะตามมาจะมีอะไรบ้าง?

 

หากแมนฯ ซิตี้ เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ พวกเขาจะสามารถอัดฉีดเงินเท่าไรก็ได้เข้าสโมสรผ่านสปอนเซอร์ในเครือของตัวเองแบบไม่มีอะไรต้องเหนียมอีกต่อไป

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมาแมนฯ ซิตี้ ก็เป็นสโมสรที่มีรายได้จากสปอนเซอร์ (Commercials) เพิ่มมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว 

 

ใน 5 ปีแรกที่สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ พวกเขามีการเติบโตในรายได้ส่วนนี้ถึงเกือบ 700 เปอร์เซ็นต์ โดยในฤดูกาล 2008/09 มีรายได้ส่วนนี้แค่ 18 ล้านปอนด์ แต่ในฤดูกาล 2012/13 มีรายได้ถึง 143 ล้านปอนด์

 

ปัจจุบันแมนฯ ซิตี้ เป็นทีมที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก และความจริงเป็นแชมป์มาตั้งแต่ปี 2021 แล้ว เหนือยิ่งกว่าทีมยักษ์ใหญ่อย่างเรอัล มาดริด หรือบาร์เซโลนา เสียอีก โดยที่ 4 ใน 10 เจ้าที่เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของสโมสร มาจากความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น สายการบินเอติฮัด

 

กรณีของพวกเขาจะคล้ายคลึงกับปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่ได้รับการอัดฉีดจากเจ้าของสโมสรคือ QSI กองทุนความมั่งคั่งจากกาตาร์ ซึ่งยืมมือการท่องเที่ยวแห่งกาตาร์อัดฉีดเงินเข้าสโมสรถึง 200 ล้านปอนด์ในปี 2014

 

เงินจำนวนนี้ทำให้สโมสรดังของฝรั่งเศสกลายเป็นทีมไร้เทียมทานในลีกเอิง ซึ่งถ้าแมนฯ ซิตี้ สามารถทำแบบเดียวกันได้ เราจะได้เห็นการทุ่มเงินซื้อนักเตะแบบไม่อั้น รวมถึงเทค่าเหนื่อยแพงมหาศาลเพื่อดึงดูดนักเตะที่ดีที่สุด โค้ชที่เก่งที่สุด และทำให้พวกเขาครองวงการแต่เพียงผู้เดียว

 

เรื่องนี้คือสิ่งที่พรีเมียร์ลีกและสโมสรต่างๆ รวมถึงคนในวงการกังวล เพราะหากปล่อยให้เป็นแบบนั้น แทบจะเรียกได้ว่าพรีเมียร์ลีกถึงจุดจบเลยทีเดียว

 

เกมซ้อนซ่อนในเกม

 

อย่างไรก็ดี การฟ้องเรื่อง APT ของแมนฯ ซิตี้ ไม่ได้คาดหวังผลแค่นั้น

 

อย่าลืมว่าพวกเขายังมีคดีติดพันเกี่ยวกับเรื่องการกระทำผิดเกี่ยวกับการเงินมากถึง 115 กระทง ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการที่คณะกรรมการอิสระที่แต่งตั้งโดยพรีเมียร์ลีกกำลังสืบสวนอยู่อย่างยากลำบาก

 

คาดกันว่าภายในเดือนพฤศจิกายนเราจะได้ทราบความชัดเจนมากขึ้นว่าแมนฯ ซิตี้ จะได้รับบทลงโทษหรือไม่ อย่างไร และคาดว่าจะมีการตัดสินเรื่องนี้ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังเริ่มกระบวนการพิจารณา

 

การยื่นฟ้องพรีเมียร์ลีกในเรื่อง APT จะมีผลต่อการพิจารณาคดีทั้ง 115 ข้อหาของแมนฯ ซิตี้ด้วย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นความผิดเกี่ยวกับเรื่องของการลักลอบอัดฉีดเงินเข้าสโมสรผ่านสปอนเซอร์ที่อยู่ในเครือของพวกเขาเอง

 

ให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ถ้ามีคำตัดสินว่าการห้ามอัดฉีดเงินเข้าสโมสรผ่านสปอนเซอร์ที่มีความสัมพันธ์กับเจ้าของสโมสรถือเป็นการกระทำที่มิชอบ นั่นแทบจะเป็นการล้างมลทินของแมนฯ ซิตี้ ทั้งหมดเลยทีเดียว

 

ในขณะเดียวกันการฟ้องร้องครั้งนี้ยังถูกมองว่าเป็น ‘แท็กติก’ ในการสร้างแรงกดดันให้กับพรีเมียร์ลีกที่ต้องเบนความสนใจและทุ่มสรรพกำลังของทีมกฎหมายในการต่อสู้คดี APT แทนที่จะได้โฟกัสกับ 115 ความผิดของแมนฯ ซิตี้ ซึ่งโลกลูกหนังก็กดดันและตั้งคำถามถึงความล่าช้าในกระบวนการพิจารณามาโดยตลอด

 

ผลกระทบอื่นที่ตามมาคือ พรีเมียร์ลีกยังอยู่ใต้แรงกดดันในเรื่องข้อตกลงส่วนแบ่งทางการเงินให้กับฟุตบอลลีก (EFL) จำนวน 900 ล้านปอนด์ ที่จะนำไปแบ่งให้กับสโมสรในระดับรองทั้ง 3 ลีก ได้แก่ แชมเปียนชิป ลีกวัน และลีกทู เพราะสโมสรต่างๆ ยังไม่กล้าลงนามรับรองเรื่องนี้ เนื่องจากต้องการรอดูทิศทางและบทสรุปของคดีก่อน

 

เรียกได้ว่าเป็นการวางหมากที่สุดแยบยลของทีมกฎหมายแมนฯ ซิตี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมถึงดูเก๋าเกมขนาดนี้ เพราะพวกเขารวบรวมนักกฎหมายที่ได้รับการยกย่องว่าเก่งที่สุดในอังกฤษมารวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับพรีเมียร์ลีก โดยทุ่มเงินไม่อั้นและมีเป้าหมายเดียวคือเอาชนะให้ได้เท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี แดน แชปแมน นักกฎหมายกีฬา มองเรื่องนี้ว่า ต่อให้แมนฯ ซิตี้ ชนะ APT สิ่งที่ได้อาจมีแค่เรื่องของการรับสปอนเซอร์แบบไม่มีข้อจำกัดอย่างเดียว แต่จะไม่มีผลไปถึงเรื่อง 115 กระทงที่พวกเขาเผชิญอยู่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

 

ในขณะที่เสียงสะท้อนจากวงการฟุตบอลอังกฤษมองว่า การเดินหมากตานี้ของแมนฯ ซิตี้ ในการฟ้ององค์กรที่ตัวเองเป็นสมาชิกและเล่นในลีกของพวกเขา เป็นการกดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์

 

“พรีเมียร์ลีกจะมีทางเลือกอื่นอีกไหม นอกจากการปรับให้พวกเขาตกชั้นไปเลย?”

 

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คดี APT ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของพรีเมียร์ลีก 

 

ที่อาจเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลกไปตลอดกาล

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X