ฟ้าผ่ากลางเมืองแมนเชสเตอร์ในวันวาเลนไทน์ เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป หรือ UEFA มีคำสั่งลงโทษด้วยการห้ามไม่ให้สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้เข้าร่วมการแข่งขัน ในรายการแข่งขันระดับสโมสรยุโรปเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังการสืบสวนพบว่าได้ ‘กระทำผิดอย่างร้ายแรง’ ต่อใบอนุญาตสโมสรที่ออกโดย UEFA และต่อกฎทางการเงิน Financial Fair Play
นอกจากการถูกสั่งลงโทษห้ามเข้าร่วมทำการแข่งขันแล้ว แมนเชสเตอร์ ซิตี้ยังถูกปรับเงินมหาศาลอีกถึง 30 ล้านยูโรอีกด้วย
บทลงโทษในครั้งนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และผลกระทบจากเรื่องนี้จะนำแมนเชสเตอร์ ซิตี้และวงการฟุตบอลไปสู่จุดไหนบ้าง
@uefa /Twitter
UEFA takes note of the decision of the independent Adjudicatory Chamber of the Club Financial Control Body (CFCB), issued today, relating to Manchester City Football Club…
— UEFA (@UEFA) February 14, 2020
UEFA ออกแถลงการณ์คำตัดสินต่อการกระทำผิดของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
จากจุดเริ่มต้นการสอบสวนถึงคำสั่งประหารจาก UEFA
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2018 เมื่อ Der Spiegel นิตยสารในประเทศเยอรมนีรายงานว่า ทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้และสปอนเซอร์ของสโมสรได้กระทำการทุจริตเพื่อตกแต่งตัวเลขให้สอดคล้องตามกฎ Financial Fair Play (FFP) ของ UEFA
โดยแมนเชสเตอร์ ซิตี้ใช้วิธีหลบเลี่ยงการกระทำผิดด้วยการไม่เปิดเผยจำนวนเงินที่ได้รับโดยตรงจาก ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เจ้าของสโมสรจากอาบูดาบี แต่ระบุว่าเป็นเงินที่ได้จากการสนับสนุนโดยสปอนเซอร์
ในครั้งนั้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้
เดือนมีนาคมปีถัดมา UEFA ได้เริ่มต้นกระบวนการสอบสวนว่าสโมสรจากอังกฤษได้กระทำผิดตามกฎ FFP หรือไม่ โดยระบุว่า “การสอบสวนจะมุ่งเน้นไปที่การกระทำผิดที่ร้ายแรงต่อกฎ FFP ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณะชนในสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้”
UEFA โดยคณะกรรมการ The independent Adjudicatory Chamber of the Club Financial Control Body (CFCB) ใช้เวลาในการสอบสวนเกือบ 1 ปีเต็ม ก่อนจะมีคำตัดสินว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้กระทำผิดต่อกฎอย่างร้ายแรง โดย ‘ตกแต่งตัวเลขเกินจริงในบัญชีของสโมสรและในข้อมูลที่ได้ส่งให้กับ UEFA ในระหว่างปี 2012 จนถึง 2016’
นอกจากนี้ยังระบุว่าสโมสร ‘ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน’ อีกด้วย
นั่นนำไปสู่บทลงโทษที่ร้ายแรงด้วยการห้ามไม่ให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ลงแข่งขันในรายการของ UEFA เป็นเวลา 2 ฤดูกาลนับจากนี้ พร้อมกับปรับเงินอีก 30 ล้านยูโร
ก่อนหน้านี้ในปี 2014 แมนเชสเตอร์ ซิตี้เคยถูกลงโทษปรับเงินมากถึง 49 ล้านปอนด์มาแล้วในการกระทำผิดต่อกฎการเงิน FFP
ภาพ: Amazon.com
บรรยาย: ภาพปกหนังสือ Football Leaks จุดเริ่มต้นของการเปิดโปงโลกฟุตบอล
Football Leaks: จดหมายผิดซอง จุดจบของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ความลับดำมืดของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้ถูกปกปิดเอาไว้อย่างดีมาโดยตลอดผ่านกระบวนการที่แยบยล จนกระทั่ง Der Spiegel ตีพิมพ์เรื่องการทุจริตของพวกเขา
โดย Der Spiegel เป็นหนึ่งในกลุ่มสื่อพันธมิตรร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนร่วม European Investigative Collaborations (EIC) เพื่อตรวจสอบเอกสารทางการเงินที่ถูกเปิดโปงตั้งแต่เดือนกันยายน 2015
เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกขานว่า Football Leaks ซึ่งเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของโลกฟุตบอล เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีเอกสารข้อมูลทางการเงินที่ถูกพบมากที่สุดในโลก ซึ่งหลายเรื่องเป็นความลับดำมืดที่ยากจะเชื่อ
ผู้ที่เปิดโปงเรื่องนี้คือแฮกเกอร์ชาวโปรตุเกสที่ชื่อว่า รุย ปินโต ที่เปิดเผยเรื่องเหล่านี้ผ่านเว็บไซต์ www.footballleaks2015.wordpress.com ก่อนจะมีการขยายผลในการสืบสวนในเวลาต่อมา โดยปัจจุบัน รุย ปินโต ได้ถูกจับกุมตัวที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี จากข้อหาในการกระทำผิดมากกว่า 147 ข้อหา รวมถึงการแฮกข้อมูลและการทำอาชญากรรมไซเบอร์ หรืออาชญากรรมคอมพิวเตอร์
สำหรับกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีการพบเอกสารและอีเมลที่เป็นการสื่อสารกันภายในองค์กรระหว่าง ฮอร์เก ชูมิลลาส เจ้าหน้าที่ทางการเงินกับ ไซมอน เพียร์ซ ผู้อำนวยการสโมสร เมื่อปี 2015 ที่ระบุว่าสโมสรได้รับเงินจากผู้สนับสนุนเพียงแค่ 8 ล้านปอนด์ นอกเหนือจากนั้นคือเงินที่ได้จากเจ้าของสโมสรทั้งหมด
อีเมลฉบับนั้นจึงเป็นที่มาของการสืบสวนและบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
กฎ FFP คืออะไร และมีไว้เพื่อใคร
Financial Fair Play หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่ากฎ FFP คือกฎที่ UEFA ตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 เพื่อแก้ปัญหาสโมสรฟุตบอลที่ใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลจนทำให้เกิดสภาวะที่สโมสรอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่วงการฟุตบอลเริ่มเป็นที่หมายของเหล่ากลุ่มทุนใหญ่ระดับโลก ที่เข้ามาสนับสนุนสโมสรฟุตบอลและใช้อำนาจทางการเงินมหาศาลสร้างทีม
สองสโมสรที่เป็นกรณีตัวอย่างชัดเจนในเรื่องนี้คือ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ซึ่งมี Qatar Sports Investment จากกาตาร์เป็นเจ้าของสโมสร และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งมี ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน สมาชิกราชวงศ์แห่งอาบูดาบี ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่รำ่รวยที่สุดของโลกเป็นเจ้าของสโมสรมาตั้งแต่ปี 2008
มิเชล พลาตินี อดีตประธาน UEFA ระบุว่า กฎ FFP มีไว้เพื่อต่อสู้กับ ‘Financial Doping’ หรือการใช้เงินอัดฉีดภายในวงการฟุตบอล
ภายใต้กฎนี้ ทุกสโมสรจะถูกตรวจสอบบัญชีอย่างเคร่งครัด มีการกำหนดจำนวนหนี้สิน และสโมสรยังต้องทำตามกฎในการจ่ายเงินค่าตัวและค่าจ้างของลูกจ้าง (นักฟุตบอล โค้ช สตาฟฟ์ ฯลฯ) ตรงตามกำหนด
สโมสรจะต้องรักษาสมดุลทางบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยจะดูจากเงินการซื้อขายผู้เล่นและค่าเหนื่อย รายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และเงินรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมในสนาม รวมถึงเงินรายได้จากฝ่ายธุรกิจอื่นๆ แต่จะยกเว้นเรื่องเงินที่ใช้จ่ายในการสร้างสนาม, สร้างศูนย์ฝึก, พัฒนาระบบเยาวชน หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน
หากสโมสรไม่สามารถทำตามกฎ FFP ได้ จะถูกตรวจสอบ และหากพบว่ามีการกระทำผิด จะมีการลงโทษ
สำหรับคณะกรรมการ The independent Adjudicatory Chamber of the Club Financial Control Body (CFCB) เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งโดย UEFA ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการสั่งลงโทษห้ามไม่ให้สโมสรเข้าร่วมแข่งขันในรายการของ UEFA และการลงโทษอื่นๆ อาทิ การตักเตือน การปรับเงิน การงดจ่ายเงินรางวัล การห้ามซื้อผู้เล่น การตัดแต้ม การห้ามไม่ให้ผู้เล่นใหม่ลงทะเบียนในรายการแข่งขันของ UEFA
การโต้ตอบของทีมสีฟ้าแห่งแมนเชสเตอร์
หลังคำตัดสินออกมาได้ไม่นาน ทางด้านแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้ออกแถลงการณ์โต้ตอบทันที
เนื้อหาส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า สโมสรผิดหวังกับคำตัดสินของ UEFA และกล่าวหาว่าคำตัดสินนั้นได้มีการ ‘ตั้งธง’ เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว พร้อมอ้างถึงการที่หัวหน้าคณะกรรมการ CFCB ได้มีการให้สัมภาษณ์ถึงความตั้งใจที่จะลงโทษต่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก่อนหน้าจะมีการสืบสวนใดๆ
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้โดย UEFA และตัดสินใจที่จะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่อด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬา (Court of Arbitration for Sport) โดยเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่จะเข้ามาทำการดูแลในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้แมนเชสเตอร์ ซิตี้เคยยื่นเรื่องต่อ CAS มาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนปีกลาย เพื่อคัดค้านการที่ UEFA ให้ CFCB ทำการตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ทางด้าน CAS ปัดคำร้องตกไปในครั้งนั้น
สำหรับในครั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าจะมีการยื่นคำอุทธรณ์เมื่อใด และ CAS จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร
ความเป็นไปได้มีทั้งการยกเลิกบทลงโทษ การลดโทษ และการยืนพื้นบทลงโทษตามคำตัดสินเดิม
CLUB STATEMENThttps://t.co/ueMFeLFowu
— Manchester City (@ManCity) February 14, 2020
บรรยาย: แมนเชสเตอร์ ซิตี้ออกแถลงการณ์โต้ตอบและพร้อมต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
บทลงโทษเพิ่มเติมจากพรีเมียร์ลีก
มีรายงานจาก The Independent ว่า มีโอกาสที่พรีเมียร์ลีกจะดำเนินการลงโทษแมนเชสเตอร์ ซิตี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากพรีเมียร์ลีกเองก็มีกฎ FFP ที่เหมือนกับของ UEFA
บทลงโทษนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการ ‘ตัดแต้ม’ ซึ่งเชื่อว่าทางคณะกรรมการของพรีเมียร์ลีกได้มีการหารือในเรื่องนี้แล้ว
หากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ถูกตัดแต้มจริง นั่นจะส่งผลต่อเรื่องการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกและการลุ้นไปแชมเปี้ยนส์ลีกโดยตรง
เป๊ป กวาร์ดิโอลาจะทิ้งทีม?
อีกหนึ่งคนที่ถูกจับตามองอย่างมากคือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้จัดการทีมชาวสเปน ว่าจะตัดสินใจอย่างไรหลังจากเกิดเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้เป๊ปมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะยังคงอยู่กับทีมต่อไปอย่างแน่นอนหลังจบฤดูกาลนี้แม้ว่าแทบจะไม่เหลือโอกาสในการป้องกันแชมป์พรีเมียร์ลีกและการลุ้นโทรฟีที่ต้องการที่สุดอย่างแชมเปี้ยนส์ลีก เป็นเรื่องที่ลำบาก เนื่องจากฤดูกาลนี้แมนเชสเตอร์ ซิตี้อ่อนแอลงจากฤดูกาลก่อนๆ ไม่น้อย
มีการพูดถึงเรื่องของการสร้างทีมเวอร์ชัน 2.0 ของเป๊ป สำหรับการทวงแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้า ซึ่งจะเป็นฤดูกาลที่เขาเหลือสัญญากับทีมเป็นปีสุดท้ายตามสัญญาที่มีถึงปี 2021
แต่สิ่งที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนคือความไว้เนื้อเชื่อใจของเป๊ปที่มีต่อเหล่าบุคคลระดับสูงของสโมสร ซึ่งก่อนหน้านี้มีการยืนยันต่อกุนซือสายเลือดคาตาลันมาโดยตลอดว่าการสืบสวนของ UEFA ไม่มีมูล และเป๊ปเองก็เคยออกมาพูดปกป้องสโมสรด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง
การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ถูกลงโทษหนักเช่นนี้จะเป็นการทำลายความไว้วางใจของเป๊ปที่มีต่อผู้อยู่เบื้องหลังของสโมสร ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจตอบรับงานในการพาแมนเชสเตอร์ ซิตี้เป็นสโมสรอันดับ 1 ทั้งของอังกฤษ ยุโรป และโลกหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง
ยูเวนตุสเป็นหนึ่งในทีมที่มีข่าวให้ความสนใจในตัวเขา และการจากลาหลัง 4 ฤดูกาลในอังกฤษก็ดูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะหลังเกิดเรื่องนี้
ถึงคราวสิ้นยุคเรือใบผงาดฟ้า?
การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ถูกตัดสิทธิ์ห้ามเข้าแข่งขันในรายการของ UEFA และการปรับเงินคือผลกระทบทางตรงที่สโมสรได้รับ
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมนั้นน่ากลัวกว่ามาก
เนื่องจากบทลงโทษดังกล่าวทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้จะต้องหาทางทำบัญชีของสโมสรให้ขาวสะอาดตามเกณฑ์ของ UEFA และนั่นหมายถึงการที่พวกเขาอาจจะไม่สามารถใช้จ่ายเงินมหาศาลเพื่อทำการปรับทัพเสริมทีมได้อีกหลังจากนี้ โดยที่ไม่มีเงินรายรับที่ขาวสะอาดเข้ามาสู่สโมสร
บทลงโทษยังหมายถึงการที่สโมสรจะขาดแรงดึงดูดในการคว้าผู้เล่นฝีเท้าดีเข้ามาเสริมทีมได้ เนื่องจากการได้ไปเล่นในรายการใหญ่อย่างแชมเปี้ยนส์ลีกเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ
เรื่องนี้เป็นปัญหาทันที สตาร์หลายคนในทีมของแมนเชสเตอร์ ซิตี้กำลังอยู่ในช่วงโรยรา ก่อนหน้านี้พวกเขาปล่อยตัว แว็งซ็องต์ กอมปานี กัปตันทีมจอมแกร่งออกไปหลังสิ้นสุดฤดูกาลที่แล้ว และทำให้ทีมประสบปัญหาในเกมรับและขาดผู้นำในทีม ขณะที่ ดาบิด ซิลบา จอมทัพของทีมจะอำลาสโมสรหลังสิ้นสุดฤดูกาลนี้
เซร์คิโอ อเกวโร กองหน้าดาวยิงเบอร์หนึ่งของทีมเริ่มเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตการเล่น และมีสัญญากับสโมสรถึงแค่ปี 2021
เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดมีโอกาสลุ้นได้ไปแชมเปี้ยนส์ลีกด้วย จากบทลงโทษของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ใครจะได้สิทธิ์แทนแมนเชสเตอร์ ซิตี้?
กรณีที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้จบฤดูกาลด้วยการเป็น 4 อันดับแรกของพรีเมียร์ลีก หรือได้แชมป์รายการยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก พวกเขาจะไม่ได้สิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขันถ้วยใบใหญ่ที่สุดของยุโรป
ตามกฎแล้วทีมที่จะได้สิทธิ์แทนคือสโมสรที่จบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับที่ 5 ซึ่งเวลานี้คือทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด
สถานการณ์เวลานี้จากอันดับ 5 ของทีม ‘ดาบคู่’ ไปจนถึงอันดับ 14 ของ คริสตัล พาเลซ มีช่องว่างห่างกันเพียงแค่ 9 คะแนนเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงทีมที่เคยคิดว่าอาจหมดสิทธิ์ไปแล้วหลายๆ ทีมอาจจะมีความหวังขึ้นมาใหม่ รวมถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและอาร์เซนอล
แต่ทั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า UEFA จะยังคงสิทธิ์ของสโมสรจากอังกฤษในการแข่งแชมเปี้ยนส์ลีกไว้ที่ 4 ทีมหรือไม่
เช่นเดียวกับในกรณีที่พวกเขาจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 5 หรือการได้แชมป์ลีกคัพและเอฟเอคัพ ในฤดูกาลนี้ก็จะไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันในรายการยูโรปาลีก โดยคาดว่าสิทธิ์จะเป็นของทีมที่มีอันดับในลีกรองลงไป
โลกฟุตบอลใบใหม่ที่ใสสะอาดขึ้น?
สุดท้ายนี้บทลงโทษแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในครั้งนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการที่ในที่สุดองค์กรที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการแข่งขันอย่าง UEFA กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา ลีกฟุตบอลอันดับ 1 ของสเปน กล่าวสดุดีความกล้าหาญของ UEFA ว่า “ในที่สุดก็กล้าที่จะตัดสินใจดำเนินการอย่างเด็ดขาด
“ในการบังคับใช้กฎ FFP และการลงโทษการ Financial Doping คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของวงการฟุตบอล
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้เรียกร้องให้มีการลงโทษที่รุนแรงต่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้และปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในที่สุดเราก็ได้เห็นตัวอย่างที่ดีและหวังว่าจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้มากกว่านี้ ถึงจะช้าก็ดีกว่าไม่มา”
เชื่อว่าหลังจากนี้สโมสรฟุตบอลทุกแห่งจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความระมัดระวังต่อกฎ FFP ยิ่งกว่าเดิม การใช้จ่ายเงินมหาศาลจะเกิดขึ้นน้อยลง และมีความหวังที่เกมฟุตบอลจะกลับสู่ความสมดุลอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/football/2020/feb/14/manchester-city-banned-from-champions-league-two-seasons-ffp-uefa
- https://www.bbc.com/sport/football/51510284
- https://www.bbc.com/sport/football/51511252
- https://www.independent.co.uk/sport/football/european/man-city-ban-champions-league-fine-uefa-financial-fair-play-rules-a9336866.html