เป็นอีกหนึ่งเกมที่ ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจองานไม่ง่ายสำหรับฤดูกาลใหม่ที่พวกเขาต้องลงสนามในฐานะแชมป์เก่า
นิวคาสเซิล หนึ่งในทีมที่แทบไม่มีการลงทุนใดๆ ตั้งรับอย่างตั้งอกตั้งใจเหมือนทุกนัดที่พวกเขาต้องเจอกับทีมที่เหนือกว่า และความตั้งใจนั้นก็สร้างปัญหาให้กับทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้อยู่บ้าง โดยเฉพาะในครึ่งแรก
แต่สุดท้ายลูกยิงไกลของ ไคล์ วอล์กเกอร์ ก็นำชัยชนะมาสู่ทีมได้สำเร็จ และทำให้ยังรักษาระยะห่างกับกลุ่มทีมนำ 3 ทีมที่ชนะรวด อย่างลิเวอร์พูล, เชลซี และวัตฟอร์ด (จอมเซอร์ไพรส์ตัวจริง) เอาไว้ไม่ให้ห่างเกินกว่า 2 คะแนน
สิ่งที่มีความหมายมากกว่านั้นคือ ชัยชนะครั้งนี้เป็นการฉลองเล็กๆ ให้กับวาระครบรอบ 10 ปีแห่งโชคชะตา
10 ปีที่สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนจากสโมสรบ้านๆ จนกลายเป็นสโมสรระดับชั้นนำของอังกฤษ และอาจกล่าวได้ว่า พวกเขาเข้าสู่สถานะของการเป็นทีมระดับโลก
โดยที่เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในวันหนึ่งที่แสนวุ่นวายของ แกรี คุก และเอกสาร 83 แผ่นของเขา
เรื่องมันเป็นมาแบบนี้ครับ…
เรือใบที่ใกล้อับปางกับแสงสว่างจากแดนทะเลทราย
หมุนเข็มนาฬิกากลับไปในเดือนสิงหาคม ปี 2008
เวลานั้นทุกอย่างอยู่ในความสับสนอลหม่าน เมื่อทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านปอนด์ (ในเวลานั้น) ของครอบครัว ‘ชินวัตร’ ถูกอายัดไว้ ทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไม่มีเงินที่จะใช้จ่ายแม้แต่ปอนด์เดียว
อย่าว่าแต่ไม่มีเงินจะจ่ายค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลเลย พวกเขาไม่มีแม้กระทั่งเงินจะจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตเลยด้วยซ้ำ
สถานการณ์นั้นเลวร้ายถึงขีดสุด เลวร้ายยิ่งกว่าการแพ้ต่อมิดเดิลสโบรห์ 8-1 ที่ริเวอร์ไซด์ ในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลก่อนหน้าด้วยซ้ำไป (และเป็นเกมสุดท้ายของ สเวน-โกรัน อีริกส์สัน) ไม่มีใครในสโมสรตอบได้ว่า แล้วนาวาสีฟ้าอ่อนลำนี้จะล่องลอยไปในทางใดต่อ
หรือพวกเขาจะต้องลอยละล่องลงไปในขุมนรก?
แกรี คุก ซึ่งเพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารของสโมสรเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า รู้ว่าพวกเขาจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เอาตัวรอดจากวิกฤตครั้งนี้ให้ได้
คุกเริ่มจากการหยิบยืมเงินจากบอร์ดบริหาร เพื่อเคลียร์เรื่องของค่าเหนื่อยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผ่านไปก่อนเป็นลำดับแรก
จากนั้นคือการมองหาผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ซึ่งในสถานการณ์นั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การหาคนที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสร 100%
ความจริงแล้วกระบวนการสรรหาผู้มาลงทุนเทกโอเวอร์กิจการสโมสรฟุตบอลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถึงจะมีคนที่สนใจในการลงทุนกับสโมสรฟุตบอลมากมายในยุคหลัง แต่กระบวนการของการเจรจาส่วนใหญ่มักใช้ระยะเวลานาน การเจรจาอาจกินเวลา 3-6 เดือน เพื่อหาข้อสรุป และไม่ใช่ทุกครั้งที่การเจรจาจะจบลงด้วยการจับมือกันเสมอไป
บุญรักษาสำหรับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ครับ ที่เวลานั้นกลุ่มอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป กำลังมองหาสโมสรฟุตบอลเพื่อลงทุนอยู่พอดี
และโชคดีที่การเจรจาระหว่าง พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางรายนี้เป็นไปด้วยดี ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วด้วยเงินจำนวน 200 ล้านปอนด์ ที่ปลดล็อกเรือใบลำน้อยให้สามารถลอยต่อไปในท้องนทีได้
คุกกล่าวว่า การเจรจาในครั้งนั้น เขาไปพร้อมกับเอกสารจำนวน 83 หน้า และแผนการซื้อผู้เล่นจำนวนมาก “สิ่งที่เราขายฝันให้กับพวกเขานั้นมากกว่าแค่การซื้อผู้เล่น 24 คน แต่มันคือการซื้อโอกาสที่จะสร้างสิ่งที่พิเศษขึ้นมากๆ”
แม้แต่ตัวเขาเองก็ยอมรับใน 10 ปีต่อมา ว่าเขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้
ในความหมายถึงทุกอย่างจริงๆ
ซูเปอร์สตาร์คนแรกและเครื่องชงกาแฟเครื่องแรก
สำหรับแฟนฟุตบอลทั่วไปและชาวเมืองแมนเชสเตอร์แล้ว ภาพจำของพวกเขาที่มีต่อ ‘ซิตี้’ คือสโมสรที่เป็นเหมือนเพื่อนบ้านนิสัยดีทั่วๆ ไป
ไม่ได้ทำตัวเลิศหรู ไม่มีความเย่อหยิ่ง มีแต่น้ำใสใจจริงให้กันแบบไม่อั้น
มาร์ก ฮอดกินสัน ผู้แต่งหนังสือ Blue Moon หนังสือเล่มที่บอกเล่าความเป็นมาของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้ดีที่สุด เคยเปรียบเทียบทีมรักของเขากับสโมสรร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ยูไนเต็ดเหมือนห้างสรรพสินค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต (ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) ที่แสนเย็นชา ขณะที่ซิตี้เป็นเหมือนร้านของชำที่หัวมุมถนนที่พร้อมทักทายว่า ‘เป็นไงบ้าง?’ และ ‘ดีใจที่ได้เจอคุณนะ’”
ในวันที่ย้ายจากเมน โรด สนามดั้งเดิมมาอยู่ที่ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดียม (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อเอติฮัด สเตเดียม ตามชื่อของสปอนเซอร์จากอาบูดาบี) พวกเขาไม่มีแม้แต่ห้องเก็บถ้วยรางวัลในสโมสรด้วยซ้ำไป
สมบัติล้ำค่าต่างๆ ของสโมสรที่มีการเก็บสะสมไว้อยู่ในห้องเล็กๆ มืดๆ ที่ไม่มีใครสนใจ
ลี แจ็กสัน เจ้าหน้าที่ดูแลสนามก็บ่นว่า เขาไม่มีสีขาวมากพอที่จะตีเส้นได้
ขณะที่ แว็งซ็องต์ กอมปานี ปราการหลังดาวรุ่งอนาคตไกลในเวลานั้น ซึ่งย้ายมาก่อนหน้าการเทกโอเวอร์จะเกิดขึ้นแค่ 10 วัน (โดยที่เขาก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าการเทกโอเวอร์จะมีขึ้น และสลักสำคัญอย่างไร) ถึงกับช็อกเมื่อห้องน้ำในสนามซ้อมนั้นไม่มีประตู
และเมื่อเขาถามหญิงชงชา (Tea lady) ประจำสโมสรว่า พอจะมีกาแฟให้ดื่มไหม คำตอบที่ได้คือ “ที่นี่เราชงชาให้คุณได้นะ แต่กาแฟที่นี่ไม่มีหรอก”
นั่นคือแมนเชสเตอร์ ซิตี้แท้ๆ ครับ ไม่มีอะไรเลยแม้แต่เครื่องชงกาแฟ
แต่ทันทีที่การตกลงเทกโอเวอร์เกิดขึ้น ทุกอย่างในสโมสรก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็วด้วย
เรื่องมหัศจรรย์เรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อซิตี้คว้า โรบินโญ ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังชาวบราซิล ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักฟุตบอลมหัศจรรย์ที่เป็นทายาทของ ‘ไข่มุกดำ’ เปเล มาร่วมทีมในวันสุดท้ายก่อนตลาดการซื้อขายเดือนสิงหาคม ปี 2008 จะปิดตัวลง
จริงๆ แล้วการเซ็นสัญญาที่ลงนามโดย เบอร์นาร์ด ฮัลฟอร์ด ประธานสโมสรกิตติมศักดิ์ เกิดขึ้นก่อนตลาดจะวายแค่ 10 นาทีเท่านั้น ท่ามกลางแฟนบอลที่รู้ข่าว และมาขับรถบีบแตรกันสนั่น เพื่อฉลองกันที่นอกสนาม
ก่อนหน้านั้น แกรี คุก ได้รับทราบว่า พวกเขามีงบประมาณจำนวนหนึ่งและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหานักเตะสักคนมาให้ได้ เพื่อให้การตกลงเทกโอเวอร์นั้นลุล่วง เพราะหากไม่สามารถคว้าสตาร์ที่ทำให้ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน พอใจได้ การเจรจาทุกอย่างที่ทำมาก็อาจจะล่ม และนั่นอาจหมายถึงจุดจบของซิตี้
มันเป็น 24 ชั่วโมงที่แสนวุ่นวายสำหรับคุก ผู้ที่ต้องต่อสายหาว่าที่นายใหม่ที่อาบูดาบีตลอดทั้งวัน และด้วยความไม่คุ้นชินของสำเนียง หรือเสียงตามสายที่มีปัญหา ทำให้เกิดเรื่องตลกขึ้นเมื่อคุกได้ยินประโยคว่า “it’s getting messy” (มันต้องอลหม่านแน่) และรีบแฟกซ์ข้อเสนอ 30 ล้านปอนด์ ให้กับบาร์เซโลนาทันที เพราะเขาได้ยินผิดว่า “let’s get Messi” (ไปคว้าเมสซีมาให้ได้)
คุกยังพยายามจะปาดหน้ายูไนเต็ดด้วยการทุ่ม 30 ล้านปอนด์ ให้กับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เพื่อแลกกับ ดิมิตาร์ เบอร์บาตอฟ แต่ไม่สำเร็จ
สุดท้ายพวกเขามาได้ โรบินโญ ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังคนแรกของทีม ที่เป็นการส่งสัญญาณแรกที่ดังและฟังชัดไปทั้งโลกของกลุ่มทุนใหม่จากอาบูดาบี
สัญญาณที่บอกว่าพวกเขาพร้อมจะเขย่าโลก
ในเวลาเดียวกัน พวกเขาสั่งเครื่องชงกาแฟอย่างดียี่ห้อ Nespresso มาประจำการที่โรงอาหาร ทำประตูห้องน้ำในสนามซ้อม และมีสีขาวให้ใช้ทาสนามได้ไม่อั้น
การล่องเรือที่ยาวนาน เพื่อชมความงามในแม่น้ำแห่งความสำเร็จ
ในความใหม่และไม่คุ้นชินต่อธรรมเนียมปฏิบัติของโลกลูกหนัง โดยเฉพาะในโลกลูกหนังที่มีขนบเป็นของตัวเองอย่างอังกฤษ บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นความ ‘เด๋อด๋า’ ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์
ซิตี้ทำตัวเหมือนสามล้อถูกหวยที่รวยด้วยเงินแห่งโชคชะตา และเป็นเหมือนตัวตลกในสายตาคนทั่วไป
เรื่องนี้บางทีก็น่าเห็นใจ เพราะการวางตัวในบทบาทใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อถูกจับจ้องจากคนภายนอก ซึ่งตัดสินพวกเขาไปแล้วด้วยอคติในใจ
ครั้งหนึ่งพวกเขาพยายามติดต่อขอซื้อ คริสเตียโน โรนัลโด ด้วยเงิน 135 ล้านปอนด์ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะโรนัลโดยืนยันว่า เขาต้องการที่จะเล่นให้กับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น ก่อนที่โรนัลโดจะย้ายไปเรอัล มาดริด
ในเวลาไล่เลี่ยกัน พวกเขาเคยติดต่อขอซื้อ ริคาร์โด กากา พ่อเทพบุตรลูกหนังเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนสุดท้าย ที่ไม่ใช่ ‘เมสซี-โรนัลโด’ แต่ซูเปอร์สตาร์ชาวบราซิลไม่สนใจและมองข้ามซิตี้ไปเหมือนเห็นกองขยะ
ความจริงพวกเขาติดต่อกับซูเปอร์สตาร์ทุกคนบนโลก และพร้อมใช้เงินทุบหัว แล้วลากเข้าสังกัดทันที ซึ่งอาจจะไม่สำเร็จบ้างในบางราย แต่พวกเขาก็ได้นักฟุตบอลชั้นดีเข้ามาสู่ทีมเรื่อยๆ
หนึ่งในนั้นคือ คาร์ลอส เตเวซ ที่กระชากตัวมาจากโอลด์แทรฟฟอร์ด พร้อมขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ใจกลางเมืองว่า ‘Welcome to Manchester’ จนเกือบจะเกิดสงครามกลางแมนเชสเตอร์
การทำเช่นนั้นเหมือนกับการทุ่มเงินแบบหน้ามืด แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างถูกคิดและวางแผนเอาไว้อย่างรอบคอบ
ซิตี้เดินหน้าคว้าซูเปอร์สตาร์ไม่หยุด เพราะต้องการจะเป็นผู้ชนะในวงการ และพวกเขาจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เร็ว ซึ่งหมายถึงการใช้เงิน
มันอาจจะดูผิดที่ผิดทางสำหรับคนอื่น แต่สำหรับพวกเขามันจะผิดอะไร ในเมื่อเงินที่ใช้ก็เงินของพวกเขาเอง
ซิกิ เบกิริสไตน์ หนึ่งใน ‘มันสมอง’ ของสโมสร ซึ่งซิตี้โชคดีที่ได้ตัวเขามาจากบาร์เซโลนา เปรียบให้เห็นภาพว่า กับสโมสรอื่นๆ นั้น พวกเขามีเงินให้ใช้จ่าย เพื่อการสร้างทีมมานานกว่า 50-60 ปี และบางทีใช้เงินไปมากกว่าที่ซิตี้ใช้ด้วยซ้ำไป
สิ่งที่พวกเขาทำคือ การซื้อเพื่อร่นเวลา อย่างน้อยจะได้ไล่ตามทัน
ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ที่อาจถูกหยิบยกมาวิพากษ์นั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว หากเป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคตที่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยเช่นกัน และนั่นคือสิ่งที่ซิตี้มอง
หลังการเริ่มต้นแบบหวือหวา ซิตี้ค่อยๆ เก็บตัวเงียบลง และทำในสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น โดยเฉพาะโปรเจกต์ระยะยาวกับการลงทุนในระบบฟุตบอลเยาวชนและสนามซ้อม
พวกเขาใช้เงินลงทุน 200 ล้านปอนด์ ในการสร้าง ‘เอติฮัด แคมปัส’ ซึ่งมีสนามซ้อม 16 สนามครึ่ง เป็นทีมเยาวชนที่มีสนามแข่งความจุ 7,000 ที่นั่งเป็นของตัวเอง และกลายเป็นหนึ่งในสนามซ้อมและอคาเดมีระดับ Elite ของโลก
และหลังการรอคอยอย่างยาวนาน พวกเขาได้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา โค้ชฟุตบอลที่เก่ง และได้รับการยกย่องว่าปราดเปรื่องที่สุดในโลกเวลานี้ มาเป็นนายใหญ่ที่จะใช้องค์ความรู้ เพื่อนำสโมสรฟุตบอลบ้านๆ แห่งนี้ให้ไปสู่จุดสูงสุดของโลก
3 แชมป์พรีเมียร์ลีก, 3 แชมป์ลีกคัพ, 1 แชมป์เอฟเอคัพ และการเข้ารอบรองชนะเลิศแชมเปียนส์ลีก กับการเปลี่ยนจากทีมเศรษฐีบ้านนอก มาเป็นทีมที่นักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ต้องการที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่
10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น
เรือใบสีฟ้าลำนี้จะยังล่องลอยไปอีกไกล และอาจจะไกลเกินกว่าที่คนอื่นจะไล่ตามทัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.bbc.com/sport/football/45256691
- www.bbc.com/sport/football/45372362
- www.dailymail.co.uk/sport/football/article-2862377/Manchester-City-new-Football-Academy-numbers-200m-8-1m-litre-water-tank-more.html
- www.theguardian.com/football/2018/sep/01/manchester-city-all-signings-10-years-abu-dhabi-united-group
- www.theguardian.com/football/2018/aug/31/abu-dhabi-ownership-transformed-manchester-city-decade
- ในเอกสาร 83 แผ่น ของ แกรี คุก ที่นำเสนอต่อกลุ่มอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป เขานำเสนอแผนในการเปลี่ยนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้กลายเป็น ‘Virgin of Asia and The World’
- ในแผนนั้นคุกยังคิดที่จะทำเครื่องดื่มชูกำลังติดแบรนด์ตัวเอง, รถมินิ คูเปอร์ เวอร์ชันซิตี้, สกูตเตอร์, บัตรโทรศัพท์, ร้านออกแบบเครื่องแต่งกาย และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดของซิตี้เอง
- ดีที่ทางอาบูดาบีไม่ได้บ้าจี้ตามไปด้วยทั้งหมด…
- มีการคำนวณรวมกันแล้วว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซิตี้ใช้เงิน 1.4 พันล้านปอนด์ เพื่อซื้อผู้เล่นจำนวน 70 ราย
- ถึงจะเป็นโคตรเศรษฐี แต่ซิตี้ไม่เคยทุบสถิติโลก โดย ริยาด มาห์เรซ คือนักฟุตบอลที่แพงที่สุดที่ซิตี้ซื้อตัวมาร่วมทีมด้วยเงิน 60 ล้านปอนด์