×

ปิดฉาก ‘ซีอีโอปีศาจแดง’ ยุคเกลเซอร์ เตรียมเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้ INEOS

16.11.2023
  • LOADING...
ผู้บริหารแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • สิ่งที่น่าสนใจคือ INEOS ได้ขอสิทธิ์ในการบริหารจัดการสโมสร ทุกอย่างจะเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนคนและอำนาจในการบริหารภายในสโมสร ซึ่งคนแรกที่จะอำลาจากทีมไปคือผู้ที่มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงที่สุดอย่าง ริชาร์ด อาร์โนลด์ ในบทซีอีโอ
  • การตัดสินใจที่ไม่ชัดเจนและเด็ดขาดของอาร์โนลด์ ที่พยายามยื้อและหาทางจะนำกรีนวูดกลับสู่ทีมโดยขาดความรอบคอบ ทำให้สโมสรตกอยู่ในสถานะลำบาก
  • Telegraph สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ พร้อมมอบหมายให้ ฌอง-โคลด บลองก์ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของ INEOS Sport เข้ามาดูแลภารกิจในการกอบกู้สโมสร

นับจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ตกเป็นของ มัลคอล์ม เกลเซอร์ ผู้ล่วงลับ ในปี 2005 นี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด

 

สัญญาณที่ว่าคือ การเตรียมวางมือของ ริชาร์ด อาร์โนลด์ ซีอีโอแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดที่รับช่วงต่อจาก เอ็ด วูดเวิร์ด ผู้บริหารรุ่นก่อน และคาดว่าจะมีผู้บริหารในตำแหน่งระดับสูงอีกหลายคน ซึ่งรวมถึง จอห์น เมอร์โทห์ ผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายฟุตบอล ที่คาดว่าจะอำลาทีมตามไปด้วยทันทีที่การส่งมอบหุ้นจำนวน 1 ใน 4 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากครอบครัวเกลเซอร์สู่ INEOS ของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ที่จะเข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นของสโมสร

 

ทั้งนี้ คาดว่าการซื้อ-ขายหุ้นจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า

 

หลังจากนี้ INEOS จะส่ง ฌอง-โคลด บลองก์ ที่ดูแล INEOS Sport เข้ามารับช่วงต่อจากอาร์โนลด์ และจะเป็นการนำสโมสรเข้าสู่ยุคใหม่อย่างไม่เป็นทางการ

 

ข่าวการเตรียมอำลาโอลด์แทรฟฟอร์ดของอาร์โนลด์ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่น่าจับตามองสำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษ

 

นั่นเพราะถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จภายในประเทศสูงที่สุด ด้วยตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุด 20 สมัย แต่อยู่ในยุคตกต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปีเต็มนับตั้งแต่ที่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือจากตำแหน่งผู้จัดการทีม

 

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังการตัดสินใจจากครอบครัวเกลเซอร์ เจ้าของสโมสร ที่ต้องการจะขายหุ้นของสโมสรเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลาย หลังจากที่ถือครองสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งทำให้เกิดความหวังในหมู่แฟนฟุตบอล Red Army หลังจากที่ต้องทนเห็นสโมสรตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับคู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่กลายเป็นเบอร์หนึ่งของยุคสมัย รวมถึงลิเวอร์พูล คู่ปรับตลอดกาลที่ไล่จี้ตำแหน่งแชมป์ลีกสูงสุดมาอยู่ที่ 19 ต่อ 20 สมัย และอาร์เซนอลที่กลับมาผงาดอย่างสง่างามอีกครั้ง

 

แต่สุดท้ายฝ่ายเกลเซอร์ก็ได้เปลี่ยนใจจากเดิมที่จะขายหุ้นสโมสรออกไปทั้งหมด กลายเป็นขายหุ้นออกไปบางส่วนแทน โดยมี เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษผู้ก่อตั้ง INEOS เข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 25% เป็นการลงทุนในขั้นแรกก่อน

 

โดยเงินที่ซื้อหุ้น 1,950 ล้านปอนด์จะตกไปอยู่ในกระเป๋าครอบครัวเกลเซอร์ 650 ล้านปอนด์ จากการขายหุ้นคลาส B ของพวกเขา ซึ่งมีสิทธิ์ในการโหวตมากกว่าหุ้นคลาส A ถึง 10 เท่า

 

ส่วนอีก 1,300 ล้านปอนด์จะตกไปอยู่กับผู้ถือหุ้นรายอื่น (เนื่องจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กด้วย) โดยที่เชื่อว่าทีมซื้อ-ขายหุ้นได้มีการซื้อ-ขายหุ้นในจำนวนที่เท่ากันระหว่างทั้งสองคลาส เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านหรือขัดขวางจากผู้ถือหุ้นในกลุ่มคลาส A ที่ไม่พอใจกับดีลนี้ และอยากเห็นเกลเซอร์ขายหุ้นออกไปทั้งหมดให้กับผู้เสนออีกรายอย่าง ชีค ยัสซิม ที่พร้อมลงทุนเต็มที่เพื่อกอบกู้สโมสรให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

เอ็ด วูดเวิร์ด และ ริชาร์ด อาร์โนลด์

เอ็ด วูดเวิร์ด และ ริชาร์ด อาร์โนลด์ (ขวา) ที่กำลังจะเป็นอดีตผู้บริหารแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดทั้งคู่

           

สิ้นสุดยุคการบริหารของเกลเซอร์

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ INEOS ได้ขอสิทธิ์ในการบริหารจัดการสโมสร ซึ่งมีแผนที่จะ ‘กอบกู้’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

ทุกอย่างจะเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนคนและอำนาจในการบริหารภายในสโมสร

 

คนแรกที่จะอำลาจากทีมไปคือผู้ที่มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงที่สุดอย่าง ริชาร์ด อาร์โนลด์

 

อาร์โนลด์เข้ามารับตำแหน่งนี้เมื่อต้นปีที่แล้วต่อจาก เอ็ด วูดเวิร์ด ซึ่งตัดสินใจวางมือเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบจากกรณีสุดอื้อฉาวที่มีส่วนในการนำแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นหนึ่งในคณะผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ซูเปอร์ลีก’ รายการฟุตบอลที่เป็นกบฏลูกหนังของวงการ

 

ด้วยความที่อยู่กับสโมสรมาอย่างยาวนาน อาร์โนลด์มีความเข้าใจในปัญหาของสโมสร โดยเฉพาะในเรื่องของความขัดแย้งกับแฟนบอล จึงพยายามที่จะหาทางเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายให้กลับมาดีต่อกันอีกครั้ง

 

ความพยายามนั้นถึงขั้นการไปนั่งพูดคุยปรับความเข้าใจกับแฟนฟุตบอลของทีมในผับเลยทีเดียว

 

ริชาร์ด อาร์โนลด์ พยายามปรับความเข้าใจกับแฟนฟุตบอลด้วยการนั่งคุยกันในผับ

 

แต่ความตั้งใจดีไม่ได้แปลว่าจะสามารถบริหารได้ดี และเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าการบริหารของเขาดีกว่ายุคของวูดเวิร์ด

 

โดยเฉพาะในประเด็นใหญ่ที่กระทบถึงชื่อเสียงและความดีงามของสโมสรอย่างเรื่องของ เมสัน กรีนวูด นักเตะสตาร์ดาวรุ่งที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรงที่กระทำรุนแรงต่อแฟนสาว ซึ่งแม้ว่าเรื่องราวทุกอย่างจะจบลงเหมือนเรื่องโอละพ่อ เพราะกองหน้าดาวรุ่งกับแฟนสาวกลับมาคืนดีและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจแล้ว

 

แต่การตัดสินใจที่ไม่ชัดเจนและเด็ดขาดของอาร์โนลด์ที่พยายามยื้อและหาทางจะนำกรีนวูดกลับสู่ทีมโดยขาดความรอบคอบ ทำให้สโมสรตกอยู่ในสถานะลำบาก เกิดการต่อต้านภายในสโมสรจากทั้งทีมหญิงรวมถึงสตาฟฟ์ผู้หญิง ไปจนถึงแฟนฟุตบอลที่ยังไม่อาจให้อภัยกับกองหน้าพรสวรรค์ได้

 

สุดท้ายกรีนวูดก็หมดอนาคตในโอลด์แทรฟฟอร์ด ต้องถูกปล่อยตัวให้เคตาเฟยืมไปใช้งานแทน

 

ในขณะที่เรื่องการบริหารทีมนอกสนาม แม้จะมีคนที่ถือว่า ‘พอรู้งาน’ อย่าง จอห์น เมอร์โทห์ เข้ามาดูแลเรื่องการซื้อ-ขายและจัดการทีมโดยเฉพาะ แต่ผลงานที่ผ่านมาไม่ถือว่าเข้าท่าหรือเข้าตานัก

 

การลงทุนด้วยเงินมหาศาลกับนักฟุตบอลที่ใกล้ปลดระวางอย่างคาเซมิโรที่เป็นตัวเลือกสุดท้าย หลังเสียเวลาไปเกือบตลอดซัมเมอร์ในการตามตื๊อ แฟรงกี เดอ ยอง จากบาร์เซโลนา ที่แม้ว่ากองกลางจอมเก๋าจะมีส่วนสำคัญกับการทำผลงานได้ดีในฤดูกาลที่แล้ว แต่กลับเล่นตกลงไปอย่างน่าใจหายในเวลาแค่ปีเดียว ไปจนถึงนักฟุตบอลค่าตัวมหาศาล แต่ให้ผลตอบแทนต่ำอย่างแอนโทนี ไม่สามารถทำให้เกิดความประทับใจได้มากนัก

 

พูดง่ายๆ คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่ต้องจ่ายเงินแพงแต่ได้ของไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้หากมีผู้อำนวยการสโมสรที่ชำนาญการจริงเข้ามาดูแลก็อาจจะไม่เป็นแบบนี้

 

ผลงานที่ดีของอาร์โนลด์ที่พอจะพูดได้คือการปิดดีล 900 ล้านปอนด์ในสัญญาระยะยาวกับ adidas และดีลปีละ 60 ล้านปอนด์กับ Qualcomm ที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักบนชุดทีม

 

และอาจรวมถึงการเกลี้ยกล่อมให้ครอบครัวเกลเซอร์งดรับเงินปันผลจากสโมสรในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อลดความขัดแย้งกับแฟนฟุตบอล

 

อาร์โนลด์จะอยู่ช่วยงานสโมสรในระหว่างนี้ไปจนกว่าที่กระบวนการผ่องถ่ายหุ้นทุกอย่างจะเรียบร้อย ซึ่งคาดว่าหลังการประกาศข่าวอย่างเป็นทางการ พรีเมียร์ลีกจะตรวจสอบเรื่องนี้เป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ และคาดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยก่อนสิ้นปี

 

จากนั้นผู้บริหารที่อยู่กับแมนฯ ยูไนเต็ด มา 16 ปี – ตั้งแต่บทของผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจมาถึงการเป็น MD และในช่วง 20 เดือนหลังสุดในบทซีอีโอ – จะได้อำลาทีมกลับไปเป็นแฟนบอลอย่างเป็นทางการ

 

ฌอง-โคลด บลองก์ ว่าที่ผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ในโอลด์แทรฟฟอร์ด

ฌอง-โคลด บลองก์ ว่าที่ผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ในโอลด์แทรฟฟอร์ด

 

ปลุกผีด้วยมืออาชีพ?

 

สำหรับคำถามว่า ใครจะเข้ามาทำงานแทนที่อาร์โนลด์ รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารสำคัญภายในโอลด์แทรฟฟอร์ด

 

Telegraph สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ พร้อมมอบหมายให้ ฌอง-โคลด บลองก์ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของ INEOS Sport เข้ามาดูแลภารกิจในการกอบกู้สโมสร

 

บลองก์อาจจะไม่ได้เป็นชื่อที่คุ้นเคยสำหรับแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด แต่ในอดีตเคยผ่านงานในการเป็นซีอีโอของสโมสรใหญ่อย่างยูเวนตุส และเพิ่งจะอำลาทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อรับตำแหน่งใน INEOS Sport

 

งานของว่าที่ซีอีโอคนใหม่มีอะไรต้องทำอีกมากมายมหาศาลในภาพรวม ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบพื้นฐานของสโมสรที่ขาดการดูแลมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งอุปกรณ์ในศูนย์ฝึกซ้อมที่เก่าและล้าสมัย ไปจนถึงหลังคาของสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดที่รั่วจนฝนหยดลงมาใส่ศีรษะแฟนบอล

 

ส่วนนี้คาดว่า เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ จะควักเงินตัวเอง 250 ล้านปอนด์เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ต้องอายใครอีก

 

แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดคือ การหา ‘ผู้อำนวยการสโมสร’ ที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการทีม ซึ่งคาดหวังกันว่าจะได้คนที่เป็นมืออาชีพที่มีความชำนาญเป็นพิเศษเข้ามาทำงาน

 

ตัวเลือกที่ปรากฏในข่าวคือ ดูกี ฟรีดแมน และ พอล มิตเชลล์ ที่มีโอกาสจะได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายฟุตบอลแทนที่ของ จอห์น เมอร์โทห์ ที่คาดว่าจะต้องอำลาจากตำแหน่งตามอาร์โนลด์ไปด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงส่วนนี้จะนำมาสู่ความคาดหวังว่าแมนฯ ยูไนเต็ด จะเปลี่ยนเป็นสโมสรหัวก้าวหน้าที่มีการบริหารจัดการทีมอย่างดีเหมือนหลายสโมสร ไม่ว่าจะเป็นทีมใหญ่ด้วยกันเองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล หรือทีมเล็กแต่บริหารยอดเยี่ยมอย่างไบรท์ตันและเบรนต์ฟอร์ด

 

แต่แน่นอนว่ายังคงมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่อยู่ดี

 

ว่าสุดท้ายแล้วทีมงานของ INEOS – ซึ่งแม้จะเคยผ่านการสนับสนุนทีมกีฬามามากมาย – แต่การบริหารจัดการสโมสรยักษ์ใหญ่ที่ความคาดหวังสูงอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด ที่เป็นงานที่ยากและท้าทายสูง พวกเขาจะเก่งพอหรือไม่ เพราะสโมสรนีซในลีกเอิงที่พวกเขาเป็นเจ้าของ ก็ไม่ได้มีผลงานที่ดีอะไรนัก

 

และอำนาจในการบริหารที่ได้มานั้นในความเป็นจริงแล้วมีอยู่แค่ไหน?

 

ในเมื่อหุ้นใหญ่ยังอยู่ในมือของเกลเซอร์อยู่ดี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising