หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ แมนสรวง
“กูไม่หนีหรอก เพราะถึงกูจะหนีไปอย่างไร กูก็หนีคำว่าไพร่ไม่ได้อยู่ดี”
ประโยคที่ เขม (อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์) พูดกับ ฉัตร (มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง) ในภาพยนตร์เรื่อง แมนสรวง คำพูดที่คล้ายเป็นแค่คำธรรมดา แต่แฝงไปด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ความเศร้าที่แค่คิดจะหนีก็ยังไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการหนีความเป็นไพร่ ที่เหมือนวิ่งหนีเงาของตัวเอง
การยอมรับตัวเอง
คำที่อาจตีความออกมาเป็นอีกหนึ่งแก่นของเรื่องที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อสารผ่านตัวละครหลายๆ ตัว แต่วันนี้เราจะมาพูดถึง ‘เขม’ ไพร่ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนายรำ เพื่อยกระดับชนชั้นทางสังคมของตัวเองให้ดีขึ้น เราลองมาถอดบทเรียนเรื่องราวของเขมที่ถูกเล่าผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้กันว่า ชีวิตของคนคนหนึ่งต้องดิ้นรนและต้องก้าวผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง กว่าที่จะกลายมาเป็นเขมในทุกวันนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- แมนสรวง ฝันยิ่งใหญ่ที่ยังไม่สมบูรณ์
- แมนสรวง แกะรอยนาฏกรรมผ่านการร่ายรำของ ‘พ่อเขม’
- THE NAKED TRUTH มาย ภาคภูมิ และ อาโป ณัฐวิญญ์ เสน่ห์ที่แท้จริงของคู่พาร์ตเนอร์จาก ‘แมนสรวง’
- เร้น เพลงประกอบภาพยนตร์ แมนสรวง กับตัวตนที่ถูก ‘แอบซ่อน’ ภายใต้หน้ากากการแสดง
‘การยอมรับตัวเอง’ คำที่หลายคนมักพูดอยู่เสมอและเป็นความจริงที่สังคมยอมรับ แต่เราจะยอมรับตัวเองได้อย่างไร ถ้าเรายังรู้สึกผิดและไม่ชอบการกระทำบางอย่างของตัวเอง จนถึงขั้นอยากหนีความเป็นตัวเองด้วยซ้ำ
เขม พ่อหนุ่มรูปงามจากเมืองแปดริ้ว ไพร่ที่มีความสามารถในการรำอย่างเป็นที่ประจักษ์ เขามักใช้การรำและใบหน้าอันงดงามของตัวเองในการดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาได้เข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรม และถูกโบ้ยความผิดเสียเอง หนทางรอดจากความผิดในครั้งนี้คือ การต้องเสี่ยงตายเข้าไปหาเอกสารลับในแมนสรวง และการย่างกรายเข้าไปในแมนสรวงก็ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล
“ต่อให้กูจะรำเก่งแค่ไหน สิ่งที่คนอยากได้จากกูก็คือตัวกูเท่านั้น”
เขมไม่ได้เป็นแค่นายรำและไพร่ธรรมดาที่ใช้ความสามารถไปวันๆ แต่เขาต้องการยกระดับชนชั้นทางสังคมของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่เขมเลือกทำมากกว่าการรำคือ การใช้ใบหน้าอันงดงามที่เปรียบเสมือนหน้ากากเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ เอาตัวเข้าแลกโดยไม่สนใจว่าการทำเช่นนี้จะถูกหรือผิด หรือจะถูกมองไม่ดีอย่างไร เขาไม่สนใจด้วยซ้ำว่าการกระทำเช่นนี้จะผิดครูหรือไม่ สิ่งเดียวที่เขมสนใจคือ การมีชีวิตที่ดีขึ้นให้ได้ เพื่อหลุดพ้นจากความเป็นไพร่
หรืออย่างเหตุผลที่เขายอมเสี่ยงตายเข้ามาหาเอกสารในแมนสรวง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นอันตรายและเขาอาจไม่มีชีวิตรอดกลับไป สิ่งที่เขมคิดคือ นี่เป็นหนทางเดียวในตอนนี้ที่จะเป็นช่องทางในการหนีจากความเป็นไพร่และได้รับความดีความชอบเมื่อทำภารกิจสำเร็จ
“ความจริงของใคร ของเอ็งเหรอ? ใครเขาจะเชื่อ”
ประโยคที่พระยาบดีศรพูดตอกหน้าเขม ในวันที่จับตัวเขมในฐานะผู้ที่กระทำผิด โดยเขมพยายามปกป้องตัวเองและเพื่อนให้พ้นผิด และถามหาความยุติธรรมจากคำพูดของตน เป็นประโยคที่คนพูดพูดออกมาง่ายๆ แต่คนฟังนั้นรู้สึกเหมือนมีมีดบาดลึกลงในจิตใจ
ประโยคนี้ไม่ได้หมายความแค่ว่าอะไรคือความจริง แต่มันหมายถึงเพราะเป็นเพียงไพร่คนหนึ่งพูด เขาเลยไม่เชื่อ ลองวัดกันดูสิว่า คำพูดของนายกับบ่าว…เรื่องไหนจะเป็นความจริงมากกว่ากัน ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกต่ำต้อยและไม่มีทางสู้ได้ตั้งแต่เกิดมาแล้ว
เมื่อวันเวลาผ่านไป การที่เขมเข้ามาในแมนสรวง ทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น เมื่อเขามองย้อนนึกถึงการกระทำหลายอย่างที่เคยทำลงไป เขามองเห็นแต่ความรู้สึกผิดที่มีต่อตัวเองจนไม่สามารถรักตัวเองได้ สุดท้ายเขาก็ไม่เคยภูมิใจหรือยอมรับความสำเร็จที่มาจากการกระทำเหล่านั้นอย่างใจที่บริสุทธิ์จริงๆ เสียที
สิ่งที่เขมกำลังเผชิญคือ ต้องการหนีความเป็นตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อถีบตัวเองจากความเป็นไพร่ เพราะความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เมื่อจิตใจมนุษย์ได้เติบโตขึ้น สิ่งที่เขมได้เรียนรู้คือ การอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับเราจริงๆ สุดท้ายเขมจึงเลือกเป็นพ่อครูสอนรำอยู่ในแมนสรวง ทิ้งโอกาสในการเข้ารับราชการ เพื่อได้ทำในสิ่งที่รักโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่เขาจะยอมรับและรักตัวเองได้อย่างแท้จริงเสียที เหมือนที่เขมพูดว่า
“กูเคยอยากถีบตัวเองให้พ้นจากความเป็นไพร่ แต่วันนี้กูอยู่ที่นี่กูว่าเหมาะสมแล้ว”
รับชมรายการ Chairs to Share EP.7 มาย-อาโป สุขและทุกข์ที่น่าจดจำ กับวันที่ตั้งคำถามถึงตัวเอง