×

แมนสรวง แกะรอยนาฏกรรมผ่านการร่ายรำของ ‘พ่อเขม’

30.08.2023
  • LOADING...
แมนสรวง

ยินดีต้อนรับสู่แมนสรวง สถานเริงรมย์ที่อุดมไปด้วยนาฏกรรมอันงดงาม และความลับสุดดำมืด นี่คือสถานบันเทิงอันเลื่องชื่อที่ ‘พ่อเขม’ นายรำมากฝีมือ จะต้องเข้าไปสืบหาจดหมายลับที่แอบซ่อนอยู่ ณ ที่แห่งนี้

 

แมนสรวง เป็นภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุค ที่จะพาผู้ชมแกะรอยตามหาความลับที่ซ้อนอยู่ใต้ฉากแห่งสถานเริงรมย์อันเลี่ยงชื่อ ในขณะเดียวกัน THE STANDARD POP ก็อยากชวนคุณผู้อ่านทุกท่านร่วมแกะรอยความหมายสำคัญจากบทละครที่ เขม หรือ อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ ถ่ายทอดออกมาในช่วงต่างๆ ของเรื่อง

 

สังข์ทอง ตอน รจนาเสี่ยงพวงมาลัย

 

บทละครที่ใช้ในตอนต้นของเรื่องเพื่อเปิดตัว ‘เขม’ นายรำมากฝีมือในย่านพระนคร ผู้รับหน้าที่แสดงเป็นพระสังข์ภายใต้รูปเงาะ โดยเนื้อความในบทละครตอนนี้เล่าว่า นางรจนา ธิดาองค์ที่ 7 แห่งเมืองพาราณสี จำเป็นต้องเลือกชายที่ดีมาเป็นคู่ครอง แต่ไม่ว่าจะมีเจ้าชายมาให้เลือกสักกี่คน เธอก็ไม่สามารถเลือกได้ พระบิดาจึงมีรับสั่งให้ต้อนชายทุกคนในเมืองมาให้รจนาเลือกโดยการเสี่ยงมาลัย พระสังข์ภายใต้รูปเงาะป่าก็ถูกกวาดต้อนเข้ามาด้วย เมื่อพระสังข์เห็นนางรจนาก็เกิดตกหลุมรัก อธิษฐานให้นางรจนาเห็นรูปทองภายในใต้ร่างเงาะป่า ท่ามกลางชายหนุ่มมากมายในเมืองพาราณสี รจนาเห็นรูปทองของพระสังข์ที่ซ่อนอยู่ภายใน จึงเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเงาะผู้นั้นเป็นพระสวามี

 

“ขอให้พวงมาลัยนี้ไปต้อง     เจ้าเงาะรูปทองจงประจักษ์

เสี่ยงแล้วโฉมยงนงลักษณ์    ผินพักตร์ทิ้งพวงมาลัยไป”

 

การหยิบบทละครนอก ตอนรจนาเสี่ยงพวงมาลัย มาใช้เป็นฉากเปิดนั้นเรียกได้ว่าน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการเปิดตัวที่ทำให้ผู้ชมได้เห็น ‘รูปทอง’ ของพ่อเขมได้เต็มสองตา ในมุมหนึ่ง การหยิบบทละครเรื่องนี้มาใช้นั้นเป็นกลวิธีการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการเปรียบเปรยความงามของพ่อเขมไปพร้อมกับการเริ่มต้นถอดหน้ากากของตัวละครนี้ให้ผู้ชมได้เห็นตัวตนของเขาเช่นกัน

 

อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง 

 

บทละครรำเรื่องแรกในแมนสรวงที่เขมได้รับบทบาทให้เป็นตัวพระ บทละครรำเรื่องนี้ว่ากันว่ามีที่มาจากนิทานอิงพงศาวดารชวา เล่าถึงศึกระหว่างเมืองกะหมังกุหนิงกับกรุงดาหา ด้วยเหตุว่าท้าวกะหมังกุหนิง ผู้เป็นเจ้าเมือง อยากจะชิงตัวนางบุษบา ธิดาของเจ้าเมืองดาหา ไปอภิเษกกับลูกชาย อิเหนา ผู้เป็นโอรสของบ้านพี่เมืองน้องอย่างกุเรปัน จึงเข้าร่วมศึกครั้งนี้และปลิดชีพท้าวกะหมังกุหนิงลงได้

 

ภารกิจการรบในศึกชิงตัวนางบุษบาของอิเหนาอาจเปรียบเสมือนภารกิจการค้นหาเอกสารลับในแมนสรวง ที่เขมต้องใช้กลวิธีทุกทางในการเอาตัวรอด เพื่อเป้าหมายในการ ‘ชิง’ เอกสารนั้นมาก่อนศัตรูให้จงได้

 

นอกจากเรื่องการชิงของสำคัญ เขมยังเป็นตัวละครที่ขึ้นชื่อว่า ‘งามเหมือนอิเหนา’ ซึ่งในบทละครรำที่พระราชนิพนธ์โดยรัชกาลที่ 2 นั้น ได้อธิบายความงามของเจ้าชายเมืองกุเรปันผู้นี้ไว้ว่า เป็นชายรูปงามเหมือนองค์เทวดา เป็นที่รักและที่ต้องตาของสตรี

 

“เมื่อนั้น                       ฝ่ายอิเหนากุเรปันโอรสา

ปรีดิ์เปรมเกษมสุขทุกทิวา     จนจำเริญชนมาสิบห้าปี

งามรับสรรพสิ้นสรรพางค์     ยิ่งอย่างเทวาในราศี

ทรงโฉมประโลมใจนารี     เป็นที่ประดิพัทธ์ผูกพัน”

 

พระลอนรลักษณ์

 

บทละครรำเนื้อหาเดียวกับลิลิตพระลอ ที่เขมนำมาใช้แสดงในตอนจบของเรื่อง โดยบทที่นำมาเล่านั้นเป็นบทเปิดเรื่องที่เกริ่นถึงพระราชอำนาจของพระลอ เจ้าครองเมืองแมนสรวง ที่ปกครองเมืองด้วยความเป็นธรรมจนรุ่งโรจน์และร่มเย็น 

 

แม้ความในตอนเปิดเรื่องจะเป็นเพียงการเกริ่นให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับพระลอ แต่ผู้สร้างกลับหยิบตอนนี้มาใช้เป็นจุดสำคัญของเรื่อง ที่ตัวละครจะต้องเปิดโปงความดำมืดในแมนสรวง

 

“เมื่อนั้น                                     พระลอเลิศลบสบสมัย 

ครอบครองศฤงคารผ่านโภไคย    ในพิชัยแมนสรวงสืบมา”

 

แน่นอนว่า เมืองแมนสรวง หรือ เมืองสรวง ในบทละครพระลอนรลักษณ์และลิลิตพระลอนั้น คือชื่อเดียวกันกับสถานเริงรมย์แห่งนี้ไม่มีผิดเพี้ยน ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องราวที่สั่นคลอนแมนสรวง คนที่ต้องแก้เกมและเปิดเผยความลับทั้งหมดนี้คงจะเป็นตัวละครอื่นในวรรณคดีไปไม่ได้นอกจาก พระลอ เท่านั้น

 

 

สำหรับใครที่อยากไปชมความงามของนาฏกรรมในแมนสรวง ก็สามารถเข้าชมได้แล้วทุกโรงภาพยนตร์ หรือชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ทาง: 

 

 

รับชมรายการ Chairs to Share EP.7 มาย-อาโป สุขและทุกข์ที่น่าจดจำ กับวันที่ตั้งคำถามถึงตัวเอง ได้ที่: 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising