×

เลือกตั้ง 2566 : มัลลิกาแนะรัฐบาลก้าวไกลถอดเรื่องแก้ไข-ยกเลิก ม.112 ออกไป การโหวตพิธาเป็นนายกฯ จะง่ายขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
21.05.2023
  • LOADING...
มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข

วันนี้ (21 พฤษภาคม) มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และการหาเสียงต่อว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อโหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นดูจะไม่ราบรื่น หากพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ถอดนโยบายเรื่องการปฏิรูปสถาบัน โดยผ่านการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยการคุ้มครององค์พระประมุขของประเทศออกไป

 

มัลลิกากล่าวต่อไปว่า จากการที่สอบถาม ส.ว. บางคน ทราบว่าเงื่อนไขสำคัญคือติดขัดเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญ หากพิธาและคณะปลดล็อกเรื่องนี้ออกไปก็เชื่อว่า ส.ว. จะโหวตให้แล้วไปเดินหน้าเป็นนายกรัฐมนตรี จัดบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรีเข้ากุมอำนาจบริหารประเทศได้

 

มัลลิกากล่าวด้วยว่า ในฐานะตนเป็นอดีต ส.ส. ทราบว่าพิธาและคณะจะไปผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ในสภา หลังจากที่ได้เสนอค้างไว้ในสมัยที่แล้ว ซึ่งไม่สามารถบรรจุเป็นวาระได้ เพราะประธานสภา ชวน หลีกภัย เห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งว่าขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจทานเอกสารร่างกฎหมายโดยละเอียด จะเห็นชัดว่าการแก้ไขของพรรคก้าวไกลที่เสนอร่างฯ ไว้นั้นเป็นการยกเลิกการคุ้มครองสถาบันหลักของชาติโดยสิ้นเชิง มาตราที่เคยคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าด้วยมาตรา 112 ที่ระบุว่า ‘ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการฯ มีโทษจำคุก 3-15 ปี ไม่มีปรับตรงนี้ จะไม่มีอีกต่อไป แต่เขาจะเปลี่ยนเป็นมาตรา 135/5 หมิ่นในหลวงมีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และมาตรา135/6 หมิ่นพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการฯ โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

 

นัยสำคัญของกฎหมาย หากโทษน้อยก็จะเหมือนกับบุคคลทั่วไป คือในกฎหมายอาญานั้นที่สุดของคดีสามารถเป็นเพียงการรอลงอาญา ซึ่งก็ไม่ต้องติดคุกจริงหรือเป็นเพียงการปรับเท่านั้น แปลตรงๆ คือกฎหมายของคณะเขาเปิดกว้างให้หมิ่นในหลวง พระราชินี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการฯ ได้โดยอาจไม่มีโทษ และในมาตรา 135/7 สามารถอ้างได้ คือถ้าวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะจะไม่มีความผิด มาตรา 135/8 ถ้าทำผิดหรือได้ดูหมิ่นไปแล้ว แต่พิสูจน์ได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรืออ้างได้ว่าเป็นความจริงและไม่ใช่เรื่องส่วนตัวก็ได้ อันนี้ก็ไม่ต้องรับโทษ

 

มาตรา 135/9 เป็นความผิดอันยอมความได้ คือนำกฎหมายพิทักษ์องค์ประมุขออกจากหมวดความมั่นคง ออกจากอาญาแผ่นดิน และผู้เสียหายก็ไม่ใช่ในหลวง พระราชินี แต่ให้ถือว่าสำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหาย ก็ให้ร้องทุกข์และเป็นคู่ความ แต่ในมาตรานี้ห้ามมีพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย (ห้ามลงชื่อ) ในฐานะคู่ความ คือตัดสิทธิไม่ให้ในหลวง พระราชินี ซึ่งคือผู้เสียหายที่แท้จริงสู้คดี และมาตรา 198 ผู้ใดหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการตัดสินคดีหรือการขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล ให้มีโทษปรับ 20,000-140,000 บาท

 

“ร่างฉบับแก้ไขของพวกเขาคือการให้พระมหากษัตริย์มีสถานะทางกฎหมายเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ดูหมิ่นไปแล้วไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการฯ และไม่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ขณะที่รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แล้วถ้าละเมิดได้เช่นนี้จะแปลว่าอะไร” มัลลิกากล่าว

 

มัลลิกากล่าวทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่ ส.ว. จำนวนมากอาจจะไม่โหวตให้ หรือ Vote No เพราะอำนาจหน้าที่ในการเป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ คือการกลั่นกรองกฎหมาย การพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตรงนี้คือหน้าที่หลักของเขา และนี่ยังไม่นับกรณีคุณสมบัติเรื่องการถือหุ้นสื่อด้วย แล้วถ้ารวมถึงหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ คือองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

 

ขณะที่มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำคัญยิ่งคือมาตรา 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising