ในโอกาสเยือนราชอาณาจักรไทยเป็นเวลา 2 วัน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ขึ้นบรรยายพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ ‘ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียในบริบทของอาเซียน’ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิต คณาจารย์ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนสื่อมวลชนที่มาร่วมฟัง ณ หอประชุมใหญ่อย่างเนืองแน่น
ระหว่างปาฐกถาประมาณ 20 นาที ดร.มหาเธร์ย้ำว่ามาเลเซียและไทยเป็นมิตรแท้กันมาช้านาน สองประเทศมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันตั้งแต่ก่อนที่มาเลเซียจะประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1957 เสียอีก
นอกจากนี้นายกฯ มาเลเซียยังกล่าวชมบทบาทของไทยที่มีส่วนช่วยเหลือมาเลเซียในระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์มาลายา หรือสงครามจลาจลคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษ 1980
หนุนแก้ปัญหาไฟใต้อย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง
สำหรับช่วงถาม-ตอบหลังการบรรยายพิเศษครั้งนี้มีคำถามที่ผู้คนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือมุมมองของนายกฯ มาเลเซียที่มีต่อปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งดร.มหาเธร์ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีโดยใช้การเจรจาและไม่ใช้ความรุนแรง
เขามองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากฐานมาจากความอยุติธรรมที่สั่งสมมานาน ไม่ใช่ปัจจัยเรื่องศาสนาเป็นหลัก เพราะปัญหาการก่อการร้ายเกิดจากคนในพื้นที่ที่รู้สึกคับแค้นใจเนื่องจากไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นมาเลเซียจึงเสนอให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยในกระบวนการเจรจาอย่างสันติวิธีเพื่อยุติปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานาน
ดร.มหาเธร์ยกตัวอย่างความสำเร็จของการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ บนโต๊ะเจรจา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแก้ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างไทยและมาเลเซียในน่านน้ำบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรซึ่งจรดชายแดนใต้ของไทย โดยปัญหานี้รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายสามารถคลี่คลายได้โดยการกำหนดพื้นที่ศูนย์กลางของปัญหาให้เป็นเขตพัฒนาร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ด้านทรัพยากรน้ำมันในบริเวณนั้นอย่างเท่าเทียมกัน
สิ่งที่คิดว่าตัดสินใจดีที่สุดตลอดการดำรงตำแหน่งนายกฯ 22 ปี
ผู้นำมาเลเซียตอบว่าประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย การรับฟังประชาชนคือหัวใจสำคัญ ดังนั้นหากตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ พวกเขาก็จะสนับสนุนคุณ
การตัดสินใจที่ดีที่สุดในความคิดของดร.มหาเธร์ก็คือการทำในสิ่งเรียบง่าย เช่น ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน พูดคุยและจับมือกับประชาชน
ดร.มหาเธร์กล่าวติดตลกด้วยว่าการที่เขาได้รับชัยชนะในเลือกตั้ง 5 ครั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 เป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าเขาตัดสินใจได้ถูกต้อง
ไม่ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ เคล็ด ‘ไม่’ ลับของการมีสุขภาพดี
กับคำถามว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ดร.มหาเธร์ในวัย 93 ปี ยังดูกระฉับกระเฉง แข็งแรง และสามารถบริหารประเทศได้ไม่แพ้คนหนุ่ม
ดร.มหาเธร์ตอบว่า “จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เคล็ดลับอะไร ผมไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และไม่ปล่อยให้ตัวเองอ้วน นอกจากนี้ผมยังทำให้ตัวเองแอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา”
สิ่งสำคัญคือเขาไม่ทำให้ตัวเองเครียดจนเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อมีปัญหาเข้ามาก็ปรับตัวรับมือกับมันและค่อยๆ แก้ไขไปทีละเปลาะ
ผู้นำมาเลเซียแนะนำด้วยว่าให้หมั่นเรียนรู้ อ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนความเห็น พูดคุยกับผู้คนเพื่อกระตุ้นสมอง และใช้กล้ามเนื้อสมองอยู่เสมอ
แนะไทยเน้นผลิตสินค้าเองเพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคในประเทศ
กับคำถามว่าผู้นำมาเลเซียมีข้อเสนอแนะอะไรเป็นพิเศษต่อประเทศไทยหรือไม่ ดร.มหาเธร์ตอบว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน ดังนั้นเขาจึงมองว่านี่คือโอกาสที่ไทยจะผลิตสินค้าใช้เองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ามากจนเกินไป
เขายกตัวอย่างว่าในอดีตญี่ปุ่นก็พยายามผลิตรถยนต์ จนกระทั่งสามารถสร้างแบรนด์และมีรถที่ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งไทยก็ควรยึดโมเดลนั้น
ดร.มหาเธร์ยังแนะว่าไทยควรเรียนรู้จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของไทย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือระบบ
พูดถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI), บิ๊กดาต้า, หุ่นยนต์ที่จะมาทดแทนแรงงานคน
ผู้นำมาเลเซียและประธานกลุ่มแนวร่วมแห่งความหวัง หรือปากาตัน ฮาราปัน มองว่าเราไม่สามารถต่อต้านกระแสเหล่านี้ได้ แต่ควรลงทุนในด้านการวิจัยเทคโนโลยี AI, บิ๊กดาต้า, หุ่นยนต์ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด
เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นด้วยว่าไมโครชิปสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่เราต้องทำความเข้าใจมัน และศึกษาว่ามันทำงานอย่างไร เรามี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่จะประยุกต์ใช้มันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร
ปัดค่านิยมตะวันตกในเรื่อง LGBT
ท่าทีต่อ LGBT หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำถามที่เรียกเสียงฮือฮาในหอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอีกครั้งที่ดร.มหาเธร์แสดงจุดยืนไม่ยอมรับในเรื่องนี้
ดร.มหาเธร์เคยวิจารณ์ค่านิยมตะวันตก รวมถึงตำหนิโมเดลทุนนิยมที่ทำให้วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 เลวร้ายยิ่งขึ้น ส่วนกรณีของ LGBT ก็เช่นกัน เขาบอกว่าเป็นกระแสค่านิยมจากตะวันตก แต่เอเชียซึ่งมีคุณค่าในแบบเอเชียอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเปิดรับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรตามทั้งหมด และ ณ เวลานี้เขายังไม่ยอมรับเรื่อง LGBT
เขาระบุว่าสิทธิของชาว LGBT ขัดกับขนบประเพณีของการแต่งงานและสถาบันครอบครัว ขณะที่การชำเราแบบวิตถารยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในมาเลเซีย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
“บางครั้งเอเชียเปิดรับคุณค่าแบบตะวันตกโดยปราศจากการตั้งคำถาม เราควรมีเสรีภาพที่จะไม่เปลี่ยนแปลงคุณค่าของเราตามที่พวกเขาปรารถนา”
นอกจากประเด็นเรื่อง LGBT แล้ว ดร.มหาเธร์ยังแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อถูกถามถึงนโยบายด้านพลังงาน เขาระบุว่าในอดีตเราเคยเห็นตัวอย่างของปัญหาที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากภัยธรรมชาติและอุบัติเหตุมาแล้ว ดังเช่นกรณีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะในญี่ปุ่นซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 และภัยพิบัติโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในยูเครนเมื่อปี 1986 ซึ่งเกิดการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ส่งผลให้กัมมันตรังสีรั่วไหลและปนเปื้อนในชั้นบรรยากาศ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์